posttoday

ทำไมประเด็นการไล่รื้อ "ชุมชนป้อมมหากาฬ" จึงสำคัญต่อทุกคน?

03 เมษายน 2559

เฟซบุ๊ก Sanon Wangsrangboon

เฟซบุ๊ก Sanon Wangsrangboon

ทำไมประเด็นการไล่รื้อ “ชุมชนป้อมมหากาฬ” จึงสำคัญต่อทุกคน?

ถึงแม้จะมีพี่หลายคนบอกผมว่าอย่าไปยุ่งกับประเด็นที่กฎหมายชี้ชัดไปแล้วอย่างเคสนี้ ฯลฯ แต่ตั้งแต่ที่ผมขลุกอยู่พี่ๆที่ชุมชนกว่าปีเศษและขลุกอยู่กับเอกสารปึ๊งใหญ่ๆกว่า 3 สัปดาห์เศษแบบเจาะลึกมากๆ อ่านเอกสารเก่าๆ ข้อความทางกฎหมายมากมาย ฯลฯ ผมก็ยิ่งยืนยัน นอนยัน และคิดว่ามันคือประเด็นที่สำคัญ (มากๆๆ) ที่เราควรจะยืนหยัดต่อ เพราะมิฉะนั้นแล้ว กรุงเทพฯเราคงไม่เหลืออะไรดีงามนี้ไว้แน่ๆ

และมันก็ถึงเวลาที่ต้องสื่อสารต่อทุกคนจริงๆครับ

หากเรามองผิวเผิน “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังโดนไล่รื้อไม่ต่างจาก ปากคลองตลาด, สะพานเหล็ก, และคลองถม แต่หากมองลึกลงไปอีกนิด แต่สิ่งที่กรุงเทพฯกำลังทำกับชุมชนป้อมมหากาฬนี้ ดูจะแสดงถึงอะไรหลายๆอย่างที่เราไม่ควรละเลยมากๆ ผมพอจะสรุปมาให้คร่าวๆดังนี้ครับ

1.มันเป็นการรื้อโดยยึดตามแผนพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่ปี 2502

เป็นแผนที่กรุงเทพฯต้องการสร้างเมืองเหมือนตะวันตก เพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง แต่ไล่คนออกจากเมืองไปเรื่อยๆ (สังเกตถนนราชดำเนินที่โดนทิ้งร้าง สังเกตชุมชนที่เริ่มหายไปเรื่อยๆในเกาะรัตนโกสินทร์) เหมือนกับว่า 57 ปีให้หลังมานี้ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรสักเท่าไรกับผลลัพธ์การพัฒนาเมืองในแบบที่เป็นอยู่ จนสิงคโปร์พัฒนาไปไกลแล้วก็ตาม หากกรุงเทพฯไล่ชุมชนป้อมมหากาฬออกไปได้ แน่นอนครับ มันจะส่งผลต่ออีก 5,500 ชุมชน ประชากรถึง 1,870,000 ครัวเรือนที่อยู่ตามคูคลองและรอบๆเมืองกรุงเทพฯ หรือเทียบแล้วมันคือ 37% เมื่อเทียบกับประชากรเมืองทั้งหมด (อ้างอิงจากรายงานของสถาบันองค์ชุมชนพัฒนาชุมชนเมื่อปี 2550)

2.กรุงเทพฯจะกลายเป็นเมืองที่ไม่มีเอกลักษณ์ใดๆเลย

เมืองเราจะไม่แตกต่างจากเมืองอื่นเลย เพราะเรากำลังเลียนแบบตะวันตก พี่ชวนัฎ ล้วนเส้ง พี่ Ashoka Fellow สถาปนิกผู้ทำงานพัฒนามาหลากหลายชุมชนให้คำจำกัดความของการรื้อชุมชนป้อมมหากาฬ ว่า "...การไล่รื้อชุมชนป้อม มหากาฬเป็นเพียงสัญญาณว่าเกมส์สร้าง ดิสนี่แลนด์รัตนโกสินทร์กำลังจะเริ่มขึ้นอีกกว่า26 ชุมชนเก่าก็จะทยอยถูกขับไสไปในนามของการขอคืนพื้นที่ ขอปรับปรุงภูมิทัศน์..." การสร้างสวนสาธารณะในที่ที่คนไปใช้สอยได้น้อยมากๆแบบนี้ (พื้นที่ป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่ปิด โดยถูกล้อมด้วยกำแพงเมืองเก่าตลอดแนวของพื้นที่) ทำไมมันถึงไม่เกิดการศึกษา การบูรณาการ กับสภาพอากาศหรือประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ กรุงเทพฯจะกลายเป็นเมืองที่ขาดเอกลักษณ์ไปจริงๆ

3.กฎหมายที่กรุงเทพฯอ้าง เป็นสิ่งที่หาทางออกได้

(คอนเฟิร์มโดยนักกฎหมายชั้นอาวุโสหลายท่านที่มาช่วยกัน) สิ่งที่กรุงเทพฯอ้างนั้น มันเป็นความเดิมของพระราชกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2535 ที่มีช่องทางมากมายหาก “ผู้มีอำนาจรัฐ” จะคิดหาทางออกเพื่อประชาชน และเลือกประชาชนมากกว่าการทำอะไรง่ายๆเพื่อตนเอง แต่สิ่งที่รัฐเลือกทำ คือการเลือกทางออกที่ง่ายที่สุด เพียงแค่คำว่า กฎหมายชี้ชัดไปแล้ว...

4.การพัฒนาที่ขาดความคิดสร้างสรรค์อย่างสุดโต่ง

ทำไมเราถึงไม่ดูประเทศที่พัฒนาแล้ว เมืองที่ดีมากๆอย่าง เกียวโต ที่ยังสามารถอนุรักษ์วัฒนธรรม ทำไมเราไม่มองสิงคโปร์ที่ถึงแม้เค้าไม่มีวัฒนธรรมอะไร แต่เค้าพยายามโหยหาและสร้างขึ้นมาจนคนไปเที่ยวเยอะแยะไปหมด เรามีทุกอย่างแต่เรากำลังจะไล่ทุกอย่างทิ้งออกไป เมื่อปี พ.ศ. 2549 ม.ศิลปากรนำโดยอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ร่วมกับกรุงเทพฯนำโดยท่านผู้ว่า อภิรักษ์ ได้ทำการวิจัย “พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่มีชีวิต” ทำกระบวนการร่วมกับชาวบ้านในชุมชนป้อมมหากาฬเป็นปี เพื่อหาทางออก สุดท้ายก็ยังติดทางตันที่กฎหมายและดูเหมือนว่ากรุงเทพฯจะไม่พยายามดำเนินการใดๆที่จะผลักดันให้งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้เป็นจริงให้จงได้

5.ในแง่เศรษฐกิจ เรากำลังเสียโอกาสทางเศรษฐกิจมหาศาลจากการไล่ชุมชนออกจากเกาะรัตนโกสินทร์

จากนักท่องเที่ยว 15 ล้านคนที่เข้ากรุงเทพฯต่อปี (ข้อมูลปี 2554) เงินสะพัดในกรุงฯอย่างน้อย 69,000 ล้านบาท เงินเหล่านี้ตกไปอยู่กับวัด กับสถานที่ที่สร้างขึ้นมาหมด มันจะดีกว่ามั้ยหากเราพัฒนาการท่องเที่ยวจากรากหญ้าขึ้นมาเป็นการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพราะมันไม่ใช่เพียงพัฒนาด้านเศรษฐกิจ แต่มันคือการพัฒนาประชาชนให้กลายเป็นพลเมือง (พละของเมือง) พัฒนาการศึกษา (เรียนรู้ภาษาอังกฤษ) และทำให้เมืองมี “ชีวิต” ขึ้นจากคนพื้นถิ่น

6.ประวัติศาสตร์ถูกลบทิ้ง

ความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิตการอยู่อาศัยแบบชุมชนดั้งเดิม เช่น การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ การมีราวตากผ้ารวมที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่นี่คือการแสดงออกถึงความเชื่อใจ เพราะผ้าบ้านไหนก็ไม่เคยหาย การอยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่ที่เหมือนทุกคนเป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง บ้านไม้โบราณที่เป็นร่องรอยทางสถาปัตยกรรมโบราณ ที่ชาวบ้านยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้เป็นอย่างดีก็จะหายไปเช่นกัน

มี Change.org ที่พี่ๆจากมูลนิธิเล็กประไพช่วยทำไว้ มันยังมีเสียงไม่มากนัก และเราต้องการเสียงมากกว่านี้อีกมากๆๆๆ อยากให้ทุกคนเข้าไปคลิกดู (ข้อความจะเน้นไปทางประวัติศาสตร์สักเล็กน้อยครับ แต่ความสำคัญไม่ต่างจากที่ผมพิมพ์ด้านบนนี้เลย)

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154043701329054&set=a.10150401127669054.381663.784794053&type=3&theater