posttoday

มาตรการในร่างรธน.เพื่อแก้ปัญหาการเมืองระบบรัฐสภา

30 สิงหาคม 2558

เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn

เฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีแค่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ หรือคปป., อำนาจพิเศษ, นายกฯที่ไม่ได้บังคับว่าต้องมาจากส.ส.ทุกกรณี, ส.ว.ที่ไม่ได้มาแต่เฉพาะจากการเลือกตั้งทางตรง และ ฯลฯ ที่กินพื้นที่ข่าวพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายต่อหลายมาตรการใหม่ ๆ ที่จะทำให้การเมืองระบบรัฐสภามีประสิทธิภาพขึ้น มีดุลยภาพขึ้น และสามารถแก้ปัญหาภายในระบบได้มากขึ้น

ลองดูมาตรการที่ขอสกัดมาให้ดูเป็นตัวอย่าง 9 ประการ

1. กำหนดให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง มาจากส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปอยู่ในที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรในการวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือไม่ด้วย : มาตรา 129 วรรคสอง และมาตรา 144 วรรคสอง

2. กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานสภาวุฒิสภา และประธานรัฐสภา รวมทั้งผู้ทำหน้าที่แทน ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ยกระดับมาตรฐานจากเดิมที่ให้วางตัวเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ห้ามประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง และห้ามเข้าร่วมประชุมพรรคการเมืองด้วย : มาตรา 97 วรรคสาม, มาตรา 129 วรรคหก และมาตรา 130 วรรคสอง

3. กำหนดให้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเป็นประธานกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ : มาตรา 138 วรรคสอง

4. กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีหน่วยธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น : มาตรา 96 วรรคสาม

5. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องตอบกระทู้ถามโดยเร็ว : มาตรา 159 วรรคแรก

6. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งแต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้นสามารถลาออกได้ หรือพ้นจากการต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะเหตุอื่นได้ และถ้าเหลือจำนวนคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่อยู่ไม่ถึงครึ่ง ก็ให้คณะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่พ้นหน้าที่ไปทั้งหมด ให้ปลัดกระทรวงร่วมกันรักษาราชการแทนจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ : มาตรา 174

7. กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมให้วุฒิสภาประชุมได้ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือถูกยุบ คือ กรณีที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งซึ่งมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้งานของวุฒิสภาหรืองานด้านนิติบัญญัติสามารถดำเนินต่อไปได้ในระหว่างที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีนี้ให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมวุฒิสภาและเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโอการ : มาตรา 137

8. กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมปิดช่องว่างมิให้ขาดผู้ทำหน้าที่แทนประธานรัฐสภา : มาตรา 97 วรรคสอง

9. กำหนดหลักเกณฑ์ใหม่เพิ่มเติมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามีอิสระจากมติพรรคการเมืองหรืออาณัติอื่นใดในการตั้งกระทู้ถาม การอภิปราย การลงมติในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การออกเสียงลงคะแนนเลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งใด และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง โดยได้มีการปรับคำปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ด้วย : มาตรา 127 และมาตรา 128

ทั้ง 9 มาตรการนี้เป็นเพียงตัวอย่าง

จะเห็นได้ว่าในมาตรการใหม่ที่ 6, 7 และ 8 นั้นหากเกิดสถานการณ์วิกฤตรัฐสภาอย่างช่วงเดือนธันวาคม 2556 จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรอยู่เป็นเวลานาน มาตรการทั้งสามจะทำให้ระบบรัฐสภายังดำรงอยู่ได้ แก้ปัญหาได้ ไม่ถึงทางตันหรือเกิดข้อถกเถียงหาข้อสรุปไม่ได้อย่างที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว
จะทยอยสกัดมาตรการจากมุมมองต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟังต่อไป

ที่มา www.facebook.com/kamnoon/posts/929607977083157