posttoday

ภาษีพระ

01 มิถุนายน 2558

สมผล ตระกูลรุ่ง

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธเรารู้จักกันดี คือ วันวิสาขบูชา เป็นวันอันอัศจรรย์ที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นตรงกัน คือ การประสูติของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ และการเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นวันที่ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ในทางจันทรคติ วันนี้จึงเป็นวันพระใหญ่ที่ชาวพุทธเราถือปฏิบัติ ทำบุญ รักษาศีล ภาวนา ตกเย็นๆ ค่ำๆ ก็จะไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ เพื่อเป็นสิริมงคล เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานมนานแล้ว และหลังจากนี้ก็จะมีกิจกรรมในทางพระพุทธศาสนาต่อเนื่องกันอีก คือ วันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธจะออกมาทำบุญกันอีก จึงเป็นช่วงที่จะมีเงินทำบุญให้กับพระกับวัดทั่วๆ ไป

ก่อนถึงวันวิสาขบูชาในปีนี้ มีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือ แนวความคิดที่จะเก็บภาษีเงินได้จากพระ เป็นแนวความคิดจากสมาชิกสภาปฏิรูปท่านหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเหตุผลที่แท้จริงอันเป็นที่มาของแนวความคิดนี้คืออะไร แต่คาดเดาเอาว่า คงจะมาจากข่าวที่พระมีทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมาก

การเสนอแนวความคิดที่จะจัดเก็บภาษีพระนั้น ทำให้ดูเหมือนว่า พระไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ตามประมวลรัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติยกเว้นไม่เก็บภาษีเงินได้จากพระ

ต้องเข้าใจกันก่อนว่า พระภิกษุแม้ต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ แต่พระภิกษุก็ยังเป็นคนไทยที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เหมือนคนไทยทั่วๆ ไป ในเรื่องของภาษีเงินได้ก็เหมือนกัน พระถ้ามีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษี พระก็จะต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป ถ้าพระไปค้าขายหรือมีรายได้ในทางธุรกิจ พระต้องเสียภาษี

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ คือ ที่ดินที่มีชื่อพระเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ ไม่ว่าจะได้มาก่อนบวชหรือมีผู้ถวายให้ในระหว่างครองสมณเพศ เช่น ได้รับมรดก หากพระจะขายที่ดินนั้น ก็จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ในขณะที่มีการจดทะเบียนโอนที่ดิน เหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไป 

หลักการของกฎหมายดังกล่าว เป็นหลักการที่ถูกต้องและปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว หากไปยกเว้นภาษีให้กับพระ คงจะมีคนบวชๆ สึกๆ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีกันมากมาย วิธีเลี่ยงจะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก หากช่วงไหนมีเงินได้ก็ไปบวช พอพ้นกำหนดก็สึก ลงทุนโกนหัวแลกกับการไม่ต้องเสียภาษีร้อยล้านพันล้าน คนไทยเรายอมอยู่แล้ว

การที่พระไม่ต้องเสียภาษีในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เพราะพระได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่เป็นเพราะเงินได้ที่พระได้รับนั้น เข้าข้อยกเว้นที่เงินได้นั้น มิใช่เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 42 (10) คือ “เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี”

รายได้ของพระมาจากการถวายของญาติโยม ไม่ว่าจะเป็นการนิมนต์ไปทำบุญบ้าน สวดงานศพ ทำบุญใส่บาตร หรือทำบุญเนื่องในโอกาสใดๆ ก็ตาม จะถือเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีก็ได้

การที่พระท่านสวดมนต์ในงานบุญ งานศพ ตามหลักธรรมวินัยแล้ว พระท่านไม่ได้รับจ้างสวดมนต์ ไม่ได้รับจ้างทำพิธี การรับนิมนต์ไปทำพิธีใดๆ ท่านย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ญาติโยมถวายปัจจัย หรือถวายสิ่งของให้ การถวายปัจจัยให้พระ เป็นเรื่องศรัทธา เป็นเรื่องการทำบุญของญาติโยมที่ต้องการบุญกุศลจากการถวายทานนั้น แม้ในความเป็นจริง จะมีลูกศิษย์กำหนดอัตราที่ต้องทำบุญสำหรับการนิมนต์ไว้ ก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เฉพาะพระที่ไม่เคารพธรรมวินัย ย่อหย่อนต่อพระธรรมวินัย แต่ย่อมไม่อาจเหมารวมว่าพระทั้งหมดเป็นเช่นนั้น

วัดกับบ้านต้องเกื้อกูล ฆราวาสชาวพุทธจึงมีหน้าที่อุปถัมภ์ ดูแลพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ถวายปัจจัยสี่ให้กับพระภิกษุ การทำบุญจึงถือเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาที่ได้รับยกเว้น

นอกจากการทำบุญให้พระภิกษุแล้ว ยังมีการทำบุญให้กับวัด และมีข่าวปรากฏอยู่ว่า วัดบางวัดมีทรัพย์สินจำนวนมาก เช่น วัดหลวงพ่อโสธร มีเงินหลายพันล้านบาท ทำให้หลายคนคิดว่า วัดที่ร่ำรวยอย่างนี้ น่าจะต้องนำมาเสียภาษี หรือช่วยเหลือสังคมบ้าง

ประเด็นการเสียภาษี ปัจจุบันวัดไม่ต้องเสียภาษี อันเนื่องมาจากวัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดให้วัดเป็นหน่วยภาษีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล

ความจริงแล้ว พระบางรูปก็ดี วัดก็ดี มีทรัพย์สินเงินทองจำนวนมาก ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่พระหรือวัดเท่านั้นที่มีเงินจำนวนมาก บุคคลธรรมดาทั่วไปบางคนก็มีเงินมาก และไม่ได้เสียภาษี เช่น การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี สปช.จะไม่ไปเรียกร้องให้ต้องเสียภาษีบ้างหรือ

พระหรือวัดที่มีเงินหรือทรัพย์สินจำนวนมาก มีจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับพระหรือวัดทั่วประเทศ ถ้าพระท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ย่อมมีผู้ศรัทธาทำบุญด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องตามธรรมชาติ และพระที่มีเงินมากอย่างนี้ มักจะไม่เก็บเอาไว้ให้เป็นภาระ แต่จะใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ

สิ่งที่ สปช.ควรจะคิดและรีบปฏิรูป คือ การที่พระบิดเบือนพระธรรมวินัย เอาบุญเป็นสินค้าหลอกลวงชาวพุทธให้หลงทำบุญจนมีเงินมากมาย กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ จึงควรจะต้องปฏิรูป ไม่ใช่ไปมองแต่ปลายเหตุว่า เมื่อพระมีเงินมาก จะต้องเก็บภาษี

การจะเก็บภาษีพระหรือวัดที่ร่ำรวย หากเป็นการเก็บจากการประกอบกิจการ เช่น การทำวัตถุมงคลจำหน่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการทำบุญ แต่เป็นการค้าขาย หากจะเก็บภาษีหรือเข้าตรวจสอบ ชาวพุทธน่าจะยอมรับกันได้ แต่ก็อาจกระทบถึงบางวัด ที่รับบริจาคสิ่งของ แล้วนำไปซ่อมแซมขายในราคาถูกๆ ก็จะต้องถูกเก็บภาษีด้วย

การที่พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีผู้บริจาคเงินจำนวนมาก แล้วไม่ต้องเสียภาษีนั้น เป็นไปตามกฎหมาย พระท่านไม่ได้หลีกเลี่ยงภาษี ไม่เหมือนกับตระกูลสัมภเวสีหนีคดี ที่ไม่ชอบเสียภาษี แต่ยินดีจ่ายค่าวางแผนให้กับนักกฎหมายไม่พกคุณธรรม หรือเนติบริกรเป็นสิบล้านร้อยล้าน เพื่อให้หาช่องหนีภาษี เป็นการเลี่ยงภาษีโดยอ้างว่า เป็นการให้ในหน้าที่ธรรมจรรยา แล้วใช้อำนาจให้สรรพากรขายตัวบางคน ทำความเห็นตอบข้อหารือว่า เป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยา

กฎหมายในบ้านเมืองเราที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ มีความเป็นธรรมอยู่แล้ว แต่ที่เกิดปัญหา เพราะคนใช้กฎหมายโดยไม่เป็นธรรม ใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง

หากนักกฎหมายใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม โดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้าง บ้านเมืองย่อมอยู่โดยสงบสุข