posttoday

"แพะค่าหัวคิว" ความผิดที่ไม่ได้ก่อของ "คนไทยพลัดถิ่นบางสะพาน"

25 กรกฎาคม 2561

"คนไทยพลัดถิ่น" นอกจากพวกเขาจะไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆตามกฎหมายแล้ว ยังต้องเผชิญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบไม่มีวันจบสิ้น

"คนไทยพลัดถิ่น" นอกจากพวกเขาจะไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆตามกฎหมายแล้ว ยังต้องเผชิญกับการถูกเอารัดเอาเปรียบไม่มีวันจบสิ้น

**********************

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

การเกิดเป็นคนไร้สัญชาติ นอกจากจะมีสถานะไม่ต่างจากคนเถื่อนนอกกฎหมาย ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับสวัสดิการความช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาล ยังต้องเผชิญกับการถูกดูหมิ่นดูแคลนถูกเอารัดเอาเปรียบไม่มีวันจบสิ้น

ชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆสองคนที่ชื่อ “ละเอียด แสงแก้ว” และ “หมูแดง ทองสุก” คนไทยพลัดถิ่น หมู่ 9 ตำบลชัยเกษม อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในร้อยพันหมื่นแสนโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น ณ ชายขอบของประเทศไทย

ความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

ละเอียดอพยพหนีไฟสงครามจากเมืองมะริด ประเทศเมียนมามาอยู่เมืองไทย ตั้งแต่อายุได้ราว 6 ขวบ เธอเติบโตภายใต้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยไม่ต่างจากราษฎรไทยคนหนึ่ง แม้โดยทางกฎหมาย เธอจะถือบัตรประจำตัวหมายเลขศูนย์ หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่เธอก็ได้ยื่นเรื่องเพื่อขอแปลงเป็นสัญชาติไทยตามสิทธิ์ที่ระบุไว้ในกฎหมายพ.ร.บ.สัญชาติ ด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม

ทว่าความฝันได้พังทลายลงในปีพ.ศ.2552 เมื่อชื่อของเธอและพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นอีกจำนวนนับพันถูกจำหน่ายออกจากทะเบียน ต้องตกอยู่ในสถานะ 'บุคคลที่ถูกจำหน่ายออกจากทะเบียนราษฎร์'

"เรื่องเกิดขึ้นตอนที่พวกเราทำเรื่องยื่นขอบัตรประชาชน ช่วงแรกๆก็ทำตามกระบวนการทุกอย่าง เตรียมเอกสาร ไปยื่นเรื่องที่อำเภอ แต่ต่อมาเริ่มมีบางคนให้เงินสินน้ำใจเล็กๆน้อยๆเป็นค่าข้าวค่าน้ำมันแก่เจ้าหน้าที่ หนักเข้าเริ่มมีการคอร์รัปชั่นเรียกเก็บค่าหัวคิว หัวละ 500 บ้าง 1000 บ้าง มากสุดที่เคยได้ยินคือ 7,000 บาท และไม่ใช่ครั้งเดียวนะ แต่เรียกเก็บอยู่เรื่อยๆ”

ขณะที่ หมูแดง อธิบายว่า พี่น้องคนไทยพลัดถิ่นหลายคนก็ไม่มีความรู้ ไม่ได้เรียนหนังสือ บวกกับอยากได้บัตรใจจะขาด พอโดนเรียกเก็บ เขาก็ยอมจ่าย หลังๆเรียกเก็บแทบจะทุกพื้นที่ ถึงขั้นมีคนการรับจ้างพาคนไร้สัญชาติจากนอกพื้นที่มาสวมรอยขอบัตรประชาชนในพื้นที่ด้วย ปัญหาก็รุนแรงขึ้น จนในที่สุดเรื่องก็แดง

“มีการตรวจสอบจากเบื้องบน ผลสุดท้ายก็มีมือมืดจำหน่ายชื่อพวกเราออกจากระบบทั้งหมดเลย เป็นการตัดปัญหา แต่หลายคนเชื่อว่าไม่อยากให้สาวความผิดถึงตัวเจ้าหน้าที่ เราเป็นเหยื่อของการคอร์รัปชั่น"เธอเน้นท้ายประโยคเสียงดัง

"พอเราไปร้องเรียน ผู้ใหญ่เขาก็อ้างว่าที่จำหน่ายชื่อพวกเราออกจากทะเบียน เพราะพวกเราไม่ให้ความร่วมมือกับทางการ เวลาเขาเรียกให้ไปทำกิจกรรม ไปประชุมหมู่บ้านก็ไม่ไป เวลาเขาเรียกให้ไปรายงานตัวก็ไม่ไป แต่ในความเป็นจริงพวกเราให้ความร่วมมือตลอด เข้าร่วมกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มออมทรัพย์ ไปตามเรื่องเอกสารแทบทุกเดือน แล้วจะไม่ให้ความร่วมมือได้ยังไง"หมูแดงส่ายศีรษะไปมาอย่างคนหมดหวัง

"แพะค่าหัวคิว" ความผิดที่ไม่ได้ก่อของ "คนไทยพลัดถิ่นบางสะพาน" ลุงหนอม วัย 80 ปี ผู้นำขบวนการไทยพลัดถิ่น แม้วันนี้แกจะได้บัตรประชาชนแล้วจากการแปลงสัญชาติ แต่ลูก หลาน เหลน อีกกว่าสิบชีวิต ยังต้องทนทุกข์กับการไม่มีบัตรประชาชนไทย

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

นอกจากวิบากกรรมครั้งนั้น ชีวิตของละเอียดต้องพานพบกับชะตากรรมอันน่าเจ็บปวดไม่รู้จบ เธอเคยแต่งงานกับหนุ่มไทย ทั้งคู่ลงหลักปักฐานช่วยกันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบจนมีบ้าน มีรถยนต์ มีทรัพย์สินเงินทองจนเป็นที่อิจฉาของเพื่อนบ้าน แต่วันหนึ่งเธอแยกทางกับสามี ด้วยความที่เป็นคนไทยพลัดถิ่น ไม่มีบัตรประชาชน ทรัพย์สินที่สร้างมาทั้งหมดต้องใช้ชื่อสามีเป็นผู้ซื้อ ท้ายที่สุดเธอต้องจำใจเดินออกมาตัวเปล่า ทิ้งทรัพย์สินเกือบทั้งหมดให้ตกเป็นของอีกฝ่าย

"ทุกวันนี้จะซื้อมอเตอร์ไซค์ก็ใช้ชื่อน้า จะสมัครงาน จะซื้อข้างของก็ใช้ชื่อน้าค้ำประกันหมด เราไว้ใจน้าเขามาก แต่ก็เคยได้ยินพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่อื่นๆถูกโกงจากเพื่อนบ้านจนหมดเนื้อหมดตัว บางคนติดคุก แต่มันคงไม่เกิดขึ้นกับเราหรอก"

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกระลอกนั่นคือ บัตรหมายเลขศูนย์ที่เธอถืออยู่นั้นหมดอายุลงแล้ว นั่นหมายความว่า ละเอียดกลายเป็นคนไร้สถานะโดยสมบูรณ์ มีเพียงบัตรลูกเสือชาวบ้านเพียงใบเดียวที่พอจะเป็นหลักฐานที่พอจะยืนยันได้ว่าเธอไม่ใช่คนจรหมอนหมิ่น

"จะออกไปไหนก็ไปไม่ได้ อยู่ได้แค่ในพื้นที่ หมดโอกาสไปทำมาหากิน จะทำงานในรีสอร์ท บังกะโล โรงงานก็อด ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะซื้อรถ หรือครอบครองทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถ สิทธิรักษาพยาบาล"เธอหัวเราะขมขื่น

ถึงอย่างนั้น ลึกลงไปใต้ชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เธอยังมีความหวังในใจ ไม่เคยท้อ ยังคงเดินหน้าติดตามเรื่องด้วยตัวเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและไม่ยอมแพ้

"แพะค่าหัวคิว" ความผิดที่ไม่ได้ก่อของ "คนไทยพลัดถิ่นบางสะพาน" ป้าหยีด ชาวบ้านในชุมชนไทยพลัดถิ่นกำลังชี้ให้ดูภาพถ่ายลูกๆที่ล่วงลับ อันเกิดจากผลกระทบของการไม่มีบัตรประชาชนไทย

ตื่นตัวเพื่อต่อสู้

"เวลาไปอำเภอทีจะยกโขยงกันไป 20-30 คน เพราะถ้าไปคนเดียว เราก็ไม่มีปากมีเสียง เจ้าหน้าที่ไม่แม้แต่จะเหลียวแลด้วยซ้ำ ไปแต่ละครั้งก็ยังเงียบ บางครั้งเปลี่ยนปลัดอำเภอใหม่ก็ถูกไล่ให้ไปทำเอกสารใหม่ทั้งหมด เสียเวลา เสียค่ารถไปตั้งเท่าไหร่ แต่ก็ต้องยอม เพราะเราไม่มีทางเลือก ตอนนี้ยืนยันว่าคนไทยพลัดถิ่นบ้านเราไม่มีใครจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่อีกแล้ว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาอะไรทั้งสิ้น ทำตามระบบทุกอย่าง เราจะไม่เสียรู้อีกต่อไปแล้ว"

ละเอียดพูดติดตลกว่าทุกวันนี้เวลาขึ้นอำเภอ เธอจะแหงนดูกล้องวงจรปิด พยายามเปิดเผยใบหน้าตัวเองให้เห็นชัดๆ เธออ้างว่าโชว์หน้าให้เป็นหลักฐาน เผื่อวันหนึ่งเกิดตกเป็นแพะบริสุทธิ์ในปัญหาคอร์รัปชั่นอีก จะได้ยืนยันกับฝ่ายความมั่นคงได้ เพราะความหวาดระแวงความไม่ไว้วางใจทั้งนั้นที่กดดันให้เธอต้องทำถึงเพียงนี้

ปัจจุบันละเอียดได้เข้าร่วมกับเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ไปอบรมความรู้ด้านสิทธิ แลกเปลี่ยนพูดคุยกับพี่น้องคนไร้สัญชาติในพื้นที่อื่นๆว่าแต่ละคนเจอปัญหาแบบไหน มีการต่อสู้อย่างไร แล้วนำบทเรียนนั้นมาเป็นแนวทางการเคลื่อนไหวของตัวเอง ถึงขั้นเคยไปเข้าร่วมเดินขบวนกับกลุ่มพีมูฟเรียกร้องปัญหาที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว

"คนที่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไร ส่วนมากจะท้อ หมดหวังทั้งนั้น มืดแปดด้าน ไม่รู้จะเดินหน้ายังไงต่อ แต่เราพยายามออกไปข้างนอกให้บ่อยที่สุด ไปแสวงหาความรู้ ไปต่อสู้เคลื่อนไหว จะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ สิทธิมันไม่ลอยมาหล่นตรงประตูบ้านแน่ เราต้องต่อสู้ด้วยตัวเราเอง ทุกวันนี้ทำให้เราตื่นตัวขึ้น รู้เท่าทันขึ้น กล้าพูดกล้ามีปากมีเสียงเรียกร้องสิทธิ์ตัวเอง สักวันเราจะต้องทำสำเร็จ"