posttoday

จาก"มะริด"สู่"บางสะพาน"ชีวิตที่ถูกล่ามโซ่ของ "คนไทยพลัดถิ่น"

24 กรกฎาคม 2561

เรื่องเล่าจากผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งที่ถูกเรียกว่าคนไทยพลัดถิ่น ไม่มีสิทธิ์ใดๆบนผืนแผ่นดินของตัวเอง กับสิ่งที่ต้องการที่สุดในชีวิตที่เรียกว่า "บัตรประจำตัวประชาชนไทย"

เรื่องเล่าจากผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งที่ถูกเรียกว่าคนไทยพลัดถิ่น ไม่มีสิทธิ์ใดๆบนผืนแผ่นดินของตัวเอง กับสิ่งที่ต้องการที่สุดในชีวิตที่เรียกว่า "บัตรประจำตัวประชาชนไทย"

*********************************

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

มองผิวเผิน ผู้หญิงที่นั่งตรงหน้า เธอสวยและดูมีความสุข

ใบหน้ากลม ผมยาวดำสลวย ดวงตาอ่อนโยน มีรอยยิ้มบางๆให้เห็นอยู่เสมอ ทว่าลึกลงไปใต้ดวงตาและรอยยิ้มนั้น มีแววของความเศร้าสร้อยและทุกข์ทน มันถูกเก็บซ่อนไว้มิดชิดยากจะมองเห็น

"สุมาลี ประกอบปราณ" หรือนุ้ย อายุ 29 วันนี้เธอขออนุญาตนายจ้างลางานจากโรงคัดปูดำ เดินฝ่าสายฝนพรำยามบ่ายมานั่งลงบนแคร่ไม้ใต้ชายคาของบ้านหลังหนึ่ง บ้านไร่เครา ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งที่ถูกเรียกว่าคนไทยพลัดถิ่น ไม่มีสิทธิ์ใดๆบนผืนแผ่นดินของตัวเอง

จากมะริดสู่บางสะพาน

คนส่วนใหญ่รับรู้ว่า ในอดีตนั้นเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี เคยเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไทย แต่ต่อมาถูกแย่งชิงไปเป็นของพม่าภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษในสมัยนั้น เมื่อแผ่นดินไทยถูกเฉือนมันมิได้เฉือนเอาแค่แผ่นดินไป ทว่ายังได้กว้านเอาผู้คนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินนั้นไปด้วย จากคนสยามหรือไทยก็กลายเป็นคนพม่าหรือเมียนมา

ผลกระทบในอีกร้อยปีถัดมาคือ รุ่นลูกหลานเหลนโหลนต้องกลายเป็นคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติไปโดยปริยาย

"หนูเกิดที่บ้านสิงขร เมืองมะริด ประเทศเมียนมาฝั่งโน้น พ่อแม่ทำสวนทำไร่ แต่พอปี 2540 มีปัญหาสู้รบกันหนักระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ หลายหมู่บ้านถูกเผา ชาวบ้านถูกฆ่าตาย ถูกจับไปเป็นแรงงานแบกเสบียงแบกกระสุนปืนและไม่ได้กลับบ้านอีกเลย พ่อแม่เลยส่งตัวหนูนั่งรถประจำทางหลบหนีข้ามด่านสิงขรมาอยู่เมืองไทย"

ตอนนั้นสุมาลีอายุได้ 15 ปี หอบหิ้วกระเป๋าใบเดียวกับเสื้อผ้าไม่กี่ชุด ไม่มีทรัพย์สินมีค่า ไม่มีแม้แต่หลักฐานประจำตัวใดๆทั้งสิ้น

เช่นเดียวกับพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากเมืองมะริด เธอไม่มีสัญชาติไทย แต่วันเวลาผ่านไปรัฐบาลไทยเริ่มผ่อนปรน เริ่มออกบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นให้ระหว่างรอขอสถานะการเป็นคนไทย รวมถึงการแก้ไขกฎหมายพ.ร.บ.สัญชาติ เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีสัญชาติได้ยื่นหลักฐานเพื่อขอเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ หลายคนโชคดีได้บัตรประชาชน บางคนได้เพียงบัตรประจำตัวคนไร้สัญชาติ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ ขณะที่อีกหลายคนโชคไม่เข้าข้าง เช่น ไม่มีญาติรองรับ ถูกจำหน่ายชื่อออก และตกสำรวจ หนึ่งในจำนวนนั้นมีสุมาลีรวมอยู่ด้วย

จาก"มะริด"สู่"บางสะพาน"ชีวิตที่ถูกล่ามโซ่ของ "คนไทยพลัดถิ่น" ครอบครัวของสุมาลี เธอมีสามีเป็นคนไทยและลูกวัยกำลังโต 2 คน

ชีวิตที่ถูกล่ามโซ่ของคนไร้สิทธิ์

"สถานะของหนูตอนนี้คือ ตกสำรวจ ปัญหาน่าจะเกิดจากการสื่อสาร หลายปีก่อนโน้นตอนมีการสำรวจ ผู้ใหญ่บ้านต้องพาลูกบ้านที่เข้าหลักเกณฑ์ไปขึ้นทะเบียน แต่ไม่รู้ยังไงหนูไม่ได้ไป เพราะไม่ทราบข่าว ชื่อเราและอีกหลายคนจึงตกสำรวจ สถานะตกสำรวจหมายความว่า ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ ไม่สามารถรับสิทธิอะไรได้เลย จะเรียนหนังสือ สมัครงาน ไปหาหมอ แม้แต่เดินทางออกนอกพื้นที่ก็ไปไม่ได้ เหมือนเป็นคนไร้ตัวตน เป็นคนเถื่อน"

น้ำเสียงของสาวไทยพลัดถิ่นสั่นเครือ สะดุด และนิ่งเงียบเป็นเวลานาน

สุมาลีเล่าว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดของการไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลยของเธอคือ ไม่มีอิสระ ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่เหมือนคนอื่นๆได้ เป็นสิบห้าปีชีวิตของที่ไม่ต่างจากนักโทษที่ถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน

"เราอยู่ได้แค่ในละแวกบ้านตัวเองเท่านั้น จะทำงานก็ทำได้แค่ในพื้นที่ รับจ้างรายวัน เช่น ก่อสร้าง คัดปู ขายกล้วยไม้ขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวที่ด่านสิงขร เป็นได้แค่ลูกจ้างทำงานรับเงินรายวัน ไม่มีโอกาสไปทำงานดีๆที่อื่น ไม่แม้แต่จะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของกิจการ หรือครอบครองอะไรได้ จะซื้อรถซื้ออะไรก็ต้องใช้ชื่อคนอื่น เวลาจำเป็นต้องไปต่างอำเภอ เช่น พาลูกไปสมัครเรียน หรือไปหาหมอ ก็ต้องวัดดวงเอา ไม่เจอตำรวจเรียกดูบัตรก็ดีไป วันไหนโชคไม่ดีก็เจอเรียกเงิน ครั้งหนึ่งเคยถูกตำรวจเรียกดูบัตร เราไม่มี เขาขอค่าปรับ 200 เรามีเงินติดตัวแค่ 200 แต่เขาก็ยังเอาไปหมด สุดท้ายไม่มีเงินกลับ ต้องเดินเท้า โบกรถเขาเอาเรื่อยๆจนถึงบ้าน หลังจากนั้นมันทำให้เราไม่กล้าไปไหนอีก

เพราะไม่มีบัตร ทำให้ไม่เคยได้รับสิทธิ์อะไรเลย ค่าคลอดลูกทั้งสองคนก็ต้องเสียเงินเอง เจ็บป่วยก็ต้องจ่ายเงินเอง ทำให้ต้องใช้ชีวิตระมัดระวังตัวมาก ห้ามป่วยเด็ดขาด ถ้าป่วยหนักขึ้นมา ครอบครัวคงลำบาก แต่เราก็ต้องทำงานหาเลี้ยงลูกๆ กัดฟันสู้ ทนทำงานไป ป่วยก็ต้องยอม ไม่มีทางเลือกอื่น ครั้งหนึ่งเคยป่วยเป็นไข้เลือดออก ไปโรงพยาบาล พอไม่มีบัตร ก็ถูกเขาไล่กลับ เพราะเตียงมีจำกัด เขาเอาให้คนที่มีบัตรแทน เจ็บใจมาก"

ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในตัวอย่างชีวิตอันยากลำบากของคนไทยพลัดถิ่นที่ยังคงต้องเผชิญปัญหาไร้บัตรประจำตัวประชาชนอีกนับหมื่นนับแสนคนทั่วประเทศ

จาก"มะริด"สู่"บางสะพาน"ชีวิตที่ถูกล่ามโซ่ของ "คนไทยพลัดถิ่น" บัตรประจำตัวลูกเสือแห่งชาติ หลักฐานสำคัญชิ้นเดียวที่สุมาลีมี ที่ยืนยันว่าเธอเป็นคนไทย

ฉันก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง

ทุกวันนี้ สุมาลีแต่งงานมีครอบครัวกับสามีชาวไทย มีลูกสาวลูกชายวัยกำลังโตสองคน ทั้งคู่ช่วยกันทำมาหากิน เก็บหอมรอมริบจนปลูกบ้านปูนชั้นเดียวหลังเล็กไว้พักพิง

"โชคดีที่แฟนเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน ลูกทั้งสองก็เลยพลอยได้บัตรประชาชนตามพ่อเขาไปด้วย"เธอพูดอย่างหมดห่วง ก่อนบอกต่อว่า

"ฝันอยากจะพาลูกไปเที่ยวงานเทศกาลประจำปีในเมือง พาไปสวนน้ำ ไปถนนคนเดิน แต่ก็ยังเป็นได้แค่ฝัน บางครั้งก็นึกอยากจะไปทำกิจกรรมอะไรกับเขาบ้าง ไปเป็นอาสาสมัครชุมชน อยากไปเป็นอาสาสมัครแพทย์พอสว. ลงพื้นที่ทุรกันดารช่วยคนอื่น หรือไปอบรมการประกอบอาชีพ แต่พอเขาถามหาบัตรประชาชน ก็จบเลย"

แม้ไม่มีบัตรประจำตัวใดๆ ทว่ายังมีหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่พอจะยืนยันความเป็นสุจริตชนบนผืนแผ่นดินไทยได้ นั่นคือ บัตรประจำตัวลูกเสือแห่งชาติ

"บัตรประจำตัวลูกเสือแห่งชาติ หรือลูกเสือชาวบ้าน ถือเป็นหลักฐานอย่างเดียวที่หนูมี ไปฝึกอบรมกับเขาจนได้ประกาศนียบัตรมาใบนึง หนูเก็บไว้ที่บ้านเลย บัตรประจำตัวนี่ก็เคลือบพลาสติกอย่างดี พกติดตัวตลอด เวลาจำเป็นต้องออกนอกพื้นที่ ถ้าเจอเรียกหาบัตร เราก็โชว์เขาว่าไปทำกิจกรรมชุมชน ไปทำหน้าที่อาสาสมัครลูกเสือชาวบ้าน นอกจากนี้เอาไว้แสดงตัวเวลาเขาเรียกหาหลักฐานว่าเราได้อาศัยอยู่ในเมืองไทย ยืนยันกับฝ่ายความมั่นคงได้ว่าหนูได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมกับทางการ ในฐานะราษฎรไทยคนหนึ่ง"

เธอโชว์บัตรเล็กๆใบนั้นด้วยความภาคภูมิใจ กำมันแน่นราวกับเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดอย่างเดียวในชีวิต

แม้วันเวลาจะล่วงเลยมานานหลายปี ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้บัตรประชาชน แต่สุมาลีก็ไม่ได้อยู่เฉย เธอเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ไปอบรมสัมมนา แสวงหาความรู้ใส่ตัว พบปะให้กำลังใจกับพี่น้องไทยพลัดถิ่นและคนไร้สัญชาติ จนมีพลังใจในการต่อสู้มากขึ้น

"เคยท้อ เคยน้อยใจโชคชะตานะ ทำไมไม่ได้บัตรเสียที ก็คิดว่าไม่อยากได้แล้ว ในเมื่อเขาไม่ให้ ไม่ยอมรับเราเป็นคนไทย เราไม่เอาก็ได้ แต่พอได้มาร่วมเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น ได้มาร่วมกิจกรรม ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่มีความรู้อะไรเลย บัตรประชาชนหรือบัตรคนไร้สัญชาติมีกี่ประเภท ได้รับสิทธิอะไรบ้าง นานเข้าก็เริ่มรู้มากขึ้น รู้สิทธิตัวเอง รู้จักกฎหมายสัญชาติ ได้เห็นคุณค่าของการมีสัญชาติ คุณค่าของการมีสิทธิ์ ที่สำคัญมันทำให้เรามีกำลังใจว่าสักวันเราต้องได้ ถ้าเราไม่นิ่งเฉย"

ในหัวใจอันเต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจแม้บางครั้งจะท้อแท้บ้าง แต่ไม่เคยสิ้นหวัง สุมาลียืนยันหนักแน่นว่า เธอยังคิดว่าตัวเองเป็นคนไทยทั้งตัวและหัวใจ แม้จะพลัดที่นาคาที่อยู่มาตั้งแต่สมัยรุ่นบรรพบุรุษ ด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ลูกๆหลานๆอย่างเธอไม่มีวันเข้าใจ แต่การมาอาศัยใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินไทย มีครอบครัว ทำมาหากินสุจริต เปี่ยมด้วยสำนักรักบ้านเกิด รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

บัตรประจำตัวประชาชนไทยจึงเป็นสิ่งเดียวที่จะเติมเต็มชีวิตของเธอได้อย่างสมบูรณ์

จาก"มะริด"สู่"บางสะพาน"ชีวิตที่ถูกล่ามโซ่ของ "คนไทยพลัดถิ่น" บ้านไร่เครา ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์