posttoday

สสส.รณรงค์สงกรานต์ปี60ดื่มไม่ขับกลับบ้านปลอดภัย

30 มีนาคม 2560

สสส.ผนึกภาคีเครือข่ายวอนสงกรานต์นี้ “ดื่มไม่ขับกลับบ้านปลอดภัย”สตช.เข้มงวดกวดขัน 6 มาตรการฝ่าฝืนโดนดำเนินคดีเฉียบขาด

สสส.ผนึกภาคีเครือข่ายวอนสงกรานต์นี้ “ดื่มไม่ขับกลับบ้านปลอดภัย”สตช.เข้มงวดกวดขัน 6 มาตรการฝ่าฝืนโดนดำเนินคดีเฉียบขาด

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่โรงแรมริชมอนด์ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว“ดื่มไม่ขับ  กลับบ้านปลอดภัย” พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า สงกรานต์ ปี 2560 พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณารณรงค์ “วันสุดท้าย” และมิวสิกวิดีโอ “ขอได้ไหม นะ นะ นะ” เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางสื่อทุกแขนง เพื่อสร้างกระแสการกระตุ้นเตือนให้ขับขี่ปลอดภัยโดยไม่ต้องมีใครบาดเจ็บและสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้

นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2559 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,447 ครั้ง เสียชีวิต 442 ราย บาดเจ็บ 3,656 ราย สาเหตุอันดับหนึ่ง จากการเมาสุรา ร้อยละ 34.09 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.93 ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15-24 ปี) สูงถึงร้อยละ 29.67 โดยวันที่เกิดอุบัติเหตุสูงมักอยู่ในช่วงวันเล่นน้ำสงกรานต์ คือ วันที่ 13-15 เมษายน จึงจัดทำแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนขึ้น หากทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติทางถนนได้อย่างมาก

นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ คสช. เร่งรัดการออกกฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยใช้ ม. 44 ทำให้มีกฎหมายที่ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น การบังคับใช้เข็มขัดนิรภัยในผู้โดยสารตอนหลังในรถทุกประเภท  ความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถตู้สาธารณะ การจำกัดความเร็วของรถในเขตเมือง  รวมถึงการกำหนดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้เอาประกันที่กรมธรรม์คุ้มครอง

พ.ต.อ.ชาญศิริ สุขรวย รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ สตช.ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 88,442 นาย ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ 1.ความผิดเกี่ยวกับการดื่ม และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง โดยเฉพาะรถโดยสารสาธารณะ 3.ยึดใบขับขี่ หรือเก็บรักษารถไว้เป็นการชั่วคราว กรณีการแข่งรถ ดื่มแล้วขับทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต 4.ฟ้องเพิ่มโทษกับผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราที่กระทำผิดซ้ำ 5.ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายที่เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต 6.สุ่มตรวจจุดเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง ไม่ให้เล่นน้ำขณะรถเคลื่อนที่ ให้จอดรถเล่นน้ำ โดยให้เน้นหนักในช่วงวันที่ 13-15 เม.ย. ทั้งนี้ การกวดขันมาตรการทางกฎหมายดังกล่าว จะช่วยป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนลงได้

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์  ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)  กล่าวว่า ขอวิงวอนภาคเอกชน ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยใช้บทเรียนของการจัดงาน Zoning พื้นที่เล่นน้ำปลอดภัย สสส. สคล.ที่ทำมากว่า 10 ปีไปใช้เป็นแนวทางในการจัดงาน เพื่อให้ตัวเลขสถิติคนเจ็บตายและความสูญเสียไม่เพิ่มมากไปกว่าที่เป็นอยู่