posttoday

เครือข่ายประกันสังคมฯชี้สิทธิตรวจสุขภาพฟรียังด้อยกว่าบัตรทอง

23 ธันวาคม 2559

เครือข่ายประกันสังคมฯ ยังไม่พอใจมาตรการตรวจสุขภาพฟรี เตรียมถก24ธ.ค. ก่อนนำเสนอเลขาฯ สปส.

เครือข่ายประกันสังคมฯ ยังไม่พอใจมาตรการตรวจสุขภาพฟรี  เตรียมถก24ธ.ค. ก่อนนำเสนอเลขาฯ สปส.

เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.   นายมนัส โกศล   ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ 24 ธ.ค.  ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์   คปค. จะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ  เครือข่าย ฟ.ฟัน สร้างสุข และสภาพัฒนาแรงงาน จัดประชุมหารือกรณีการตรวจสุขภาพมาตรา 63(2)  ของพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไข ฉบับที่ 4/2558    โดยจะหารือถึงเรื่องสิทธิการตรวจสุขภาพที่ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60   ซึ่งมองว่ายังมีปัญหาในเรื่องสิทธิที่ด้อยกว่ากองทุนบัตรทอง

นายมนัส กล่าวว่า  อย่างการตรวจเอ็กซเรย์ทรวงอก ทางบัตรทองไม่ได้กำหนดอายุ แต่ดูตามความจำเป็น ขณะที่ประกันสังคมกลับระบุอายุไว้ว่าต้อง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงนี้มองว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ไม่น่าจะต้องมาถูกจำกัดเช่นนี้  ซึ่งประเด็นดังกล่าว ในการประชุมหารือวันพรุ่งนี้จะมีการคุยกันว่า ควรมีสิทธิตรวจสุขภาพอย่างไร เพื่อให้เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง เพื่อนำเสนอต่อ เลขาธิการ สปส. ในวันที่  26 ธ.ค.นี้

นายมนัส กล่าวอีกว่า  ในมาตรา 63(2) อนุบัญญัติ 7 ของพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ นั้น ยังมีกรณีเยียวยาผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งสิทธิบัตรทองมีเยียวยาช่วยเหลือ เบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท แต่ประกันสังคม ยังไม่ออกระเบียบมารองรับจุดนี้ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการเยียวยาผู้ประกันตนกรณีได้รับผลกระทบทางการแพทย์ด้วยหรือไม่ และนอกจากประเด็นตรวจสุขภาพแล้ว ในเรื่องผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 ล้านคนนั้น จะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิ อย่างค่าปลงศพได้ที่  20,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 40,000 บาท เทียบเท่ากับผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33  และขอให้เพิ่มเงินขาดรายได้จากเดิม 200 บาทต่อวันเป็น 300 บาทต่อวัน   โดยทั้งหมดจะมีการนำเข้าหารือกับเลขาธิการ สปส. เช่นกัน

สำหรับรายละเอียดการตรวจสุขภาพพื้นฐานที่ สปส. จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30-39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40-54 ปี ตรวจได้ทุกปี  หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35-54 ปีตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไปตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี  หรือการเอ็กซเรย์ทรวงอก Chest x–ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป