posttoday

สปส.เผยครม.ไฟเขียวร่างแก้ไขกม.เพิ่มค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ-ตาย

11 สิงหาคม 2559

สปส. เผย ครม.ไฟเขียวร่างแก้ไข กม.เงินทดแทน เพิ่มค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ-ตายได้ไม่เกิน2หมื่น-ค่าทำศพได้ไม่เกิน4หมื่น-ขยายเวลาจ่ายค่าทุพพลภาพไม่น้อยกว่า15ปีถึงตลอดชีวิต

สปส. เผย ครม.ไฟเขียวร่างแก้ไข กม.เงินทดแทน เพิ่มค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ-ตายได้ไม่เกิน2หมื่น-ค่าทำศพได้ไม่เกิน4หมื่น-ขยายเวลาจ่ายค่าทุพพลภาพไม่น้อยกว่า15ปีถึงตลอดชีวิต

เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน แถลงหลังจากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินทดแทน พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ว่า ขั้นตอนต่อจากนี้จะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และเสนอเข้า ครม. เห็นชอบอีกครั้ง ก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณาต่อไป ซึ่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว มีสาระสำคัญ โดยให้เพิ่มอัตราค่าทดแทนกรณีลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานได้ สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และตาย จากร้อยละ 60 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ซึ่งวงเงินสูงสุดในการจ่ายไม่เกิน 20,000 บาท อีกทั้งเพิ่มค่าจัดทำศพจากเดิมในอัตรา 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุด เป็นไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันสูงสุดตามประกาศกระทรวงแรงงาน ซึ่งวงเงินที่จ่ายสูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท
 
นอกจากนี้เพิ่มระยะเวลาจ่ายค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ จากเดิมจ่ายไม่เกิน 15 ปี เป็นไม่น้อยกว่า 15 ปี เช่น หากไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เลยก็จะจ่ายให้ตลอดชีวิต และกรณีตาย จ่ายค่าทดแทนจากเดิม 8 ปี เป็น 10 ปี
 
เลขาฯ สปส. กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ร่างพ.ร.บ. ยังกำหนดให้ลดค่าปรับกรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน จากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 2 ให้เท่ากับพ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม และให้จ่ายค่าปรับไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย รวมทั้งงดการคิดค่าปรับกรณีนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน กรณีอยู่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรง หรือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ให้ขยายความคุ้มครองไปถึงพนักงานราชการและลูกจ้างทั้งประจำและชั่วคราวของส่วนราชการทุกประเภท รวมทั้งเพิ่มโทษนายจ้างในกรณีเช่น แจ้งเอกสารเท็จในการจ่ายเงินสมทบ โดยเพิ่มโทษจากปรับ 10,000 บาทเป็น 20,000 บาท และจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำและปรับ
 
นอกจากนี้ ให้สปส. เป็นผู้กำหนดชนิดโรคซึ่งเกิดจากการทำงานเพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็วในการวินิจฉัยและส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษา ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อลูกจ้าง และกำหนดโรคที่เกิดจากการทำงานให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานมีการร้องเรียนจากแรงงานที่ป่วยเป็นโรค เช่น มะเร็งปอด โดยระบุว่า เป็นผลเกิดจากการได้รับฝุ่นละอองจากสถานที่ทำงานสะสมในร่างกาย หรือทำงานเป็นเวลาหลายปีแล้วได้รับสารเคมีจากสถานที่ทำงานแล้วเกิดอาการป่วย ซึ่ง สปส. จะมีการออกประกาศ สปส. โดยมีการระบุชื่อโรคแนบท้าย และจะมีการปรับปรุงและกำหนดรายชื่อโรคเป็นระยะ รวมทั้งจะต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาวินิจฉัยโดยเฉพาะ รวมทั้งขยายคลินิกโรคที่เกิดจากการทำงานให้มากขึ้น