posttoday

เอ็นจีโอห่วงล็อกสเปก "เลขาฯสปสช."

31 พฤษภาคม 2559

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพห่วงได้ผู้บริหารกองทุน30บาทมาจากกระทรวง ย้ำควรเปิดอิสระ

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพห่วงได้ผู้บริหารกองทุน30บาทมาจากกระทรวง ย้ำควรเปิดอิสระ

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เปิดเผยว่า ภาคประชาชนมีความกังวล ในการเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะมีวาระเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ตั้งแต่ประเด็น คณะกรรมการสรรหาที่ไม่หลากหลาย หนักไปยังผู้แทนที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ขณะเดียวกันหากได้เลขาธิการ สปสช.มาจากส่วนราชการ แล้วประธานบอร์ด สปสช.ยังเป็น รมว.สาธารณสุข อาจมีความเกรงใจกันในการบริหารและ รมว.สาธารณสุขอาจสั่งการเลขาธิการ สปสช.ได้ ซึ่งภาคประชาชนเพียงแค่การตั้งข้อสังเกต เนื่องจากประเทศไทยยังมีลักษณะการอุปถัมภ์อยู่ ดังนั้นแม้ว่าจะแยกไปเป็นผู้บริหารองค์กรอิสระแล้วแต่ยังอาจขาดความเป็นอิสระได้

ส่วนกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเปิดประเด็นการส่งกฤษฎีกาตีความในประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้สมัครที่เข้ารับการสรรหา เนื่องจากหนึ่งในผู้สมัครที่จะได้รับการเสนอชื่อต่อบอร์ด เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหาร สธ. ในช่วงที่เป็นคู่สัญญากับ สปสช.นั้น น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า เข้าใจว่าที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเคลื่อนไหวได้เน้นไปที่ประธานกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ที่ดูเหมือนเป็นคนใกล้ชิด รมว.สาธารณสุข และไม่ทราบว่าในกรณีที่เกิดขึ้นได้มีการสั่งการอะไรหรือไม่ เชื่อมโยงถึงกรณีที่ รมว.สาธารณสุข ขอให้บอร์ด สปสช.ส่งประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้สมัครในกรณีนี้กลับไปยังกฤษฎีกาขอให้ตีความใหม่ว่า ผู้บริหาร สธ.จะถือเป็นคู่สัญญาหรือไม่ เพราะหากยึดตามผลการตีความเดิมจะถือว่าขาดคุณสมบัติและตกไป อย่างไรก็ตามเป็นห่วงว่า หากผลตีความใหม่ส่งผลให้ผู้บริหาร สธ.ไม่ขาดคุณสมบัติก็อาจเกิดการล๊อกสเปคเลขาธิการ สปสช.หรือไม่

“อย่างไรก็ตามปกติในการตีความของกฤษฎีกา ที่ผ่านมาเรามักเห็นธรรมเนียมของกฤษฎีกาที่เมื่อตีความเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว จะยึดคำวินิจฉัยตีความเดิม เช่นเดียวกับกรณีที่ สปสช.เคยส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความก่อนหน้านี้ว่า ผู้มีสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นใคร ซึ่งกฤษฎีกาตีความว่าเป็นคนไทยที่มีเลข 13 หลัก แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนบางกลุ่มที่ไม่มีเลข 13 หลัก โดย สปสช.เคยส่งตีความใหม่ แต่กฤษฎีกายังยืนยันผลการตีความเดิม ซึ่งทำให้ สปสช.ไม่กล้าส่งเรื่องนี้อีก” น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวอีกว่า ภาคประชาชนเห็นด้วยกับการที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาแสดงความกังวลในเรื่องนี้ และเข้าใจว่าชมรมแพทย์ชนบทน่าจะมีข้อมูลเชิงลึก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ภาคประชาชนอยากให้ความสำคัญคือ ไม่ว่าเลขาธิการ สปสช.จะเป็นใคร ก็อยากให้เป็นบุคคลที่พร้อมมาเป็นผู้บริหารองค์กรอิสระ ซึ่งต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และทำงานร่วมกับบอร์ด สปสช.ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆ ในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่กลัวนโยบายจำกัดเงินกองทุน ไม่กล้าต่อสู้งบประมาณ จนส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิประชาชน”

นส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ขอฝากไปยัง รมว.สาธารณสุข ซึ่งกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้เคยเข้าพบและสอบถามถึงทิศทางการบริหารหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่าจะเน้นที่ประชาชนหรือการบริหารจัดการเบ็ดเสร็จภายใต้ สธ. ซึ่งท่านยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกฎหมายของตัวเอง แต่ขณะนี้ดูเหมือนท่านกำลังอยากได้คนจาก สธ.มานั่งตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.หรือไม่ จึงอยากให้ท่านทำตามหน้าที่ในฐานะ รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาล คสช. และควรมองไปข้างหน้า

“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้วและควรทำให้ดียิ่งขึ้น จึงควรคัดเลือกบุคคลที่มีความเข้าใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาบริหาร และไม่ควรเปิดโอกาสให้บุคคลใกล้ชิดทำการล๊อบบี้คะแนนเลือกเลขาธิการฯ แต่ควรเปิดให้เป็นอิสระ ขณะเดียวกันขอฝากไปยังบอร์ด สปสช.ด้วยว่า ควรเลือกเลขาธิการ สปสช.ตามความเหมาะสม ไม่ใช่มาจากการล็อบบี้หรือคำร้องของใคร” น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

นอกจากนี้ ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ภาคประชาชนเคารพการตัดสินใจของบอร์ด แต่ขอส่งความเห็นที่เป็นการเตือนล่วงหน้าว่า บอร์ด สปสช.ควรเลือกเลขาธิการฯ ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเดินหน้าต่อไปและ ไม่ว่าจะมีเลขาธิการฯ แบบไหน ภาคประชาชนจะติดตามคุ้มครองระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะเป็นระบบที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่คนในประเทศเองกลับพยายามบอนไซระบบไม่ให้เติบโต ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ประเทศไทยมีนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการสปสช. ได้ประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อคัดเลือกรายชื่อส่งให้บอร์ดสปสช.คัดเลือกในการประชุมบอร์ดสปสช.วันที่  6 มิ.ย.นี้ 2 รายชื่อ ได้แก่ นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการสธ. และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.