posttoday

ภาคีสุขภาพชี้ปลดบอร์ดสสส.กระทบโครงการภาคประชาชน

11 มกราคม 2559

ภาคีสุขภาพแถลงจุดยืนกรณี คสช.สั่งปลดบอร์ด สสส.ชะลอโครงการภาคประชาชน กระทบกว่า 2 พันโครงการ แถมถูกสรรพากรไล่บี้ภาษีหนัก

ภาคีสุขภาพแถลงจุดยืนกรณี คสช.สั่งปลดบอร์ด สสส.ชะลอโครงการภาคประชาชน กระทบกว่า 2 พันโครงการ แถมถูกสรรพากรไล่บี้ภาษีหนัก

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.เวลา11.00 น.ที่อาคารคริสตจักรแห่งประเทศไทย ในเวทีประชุมภาคีเครือข่ายสุขภาพในนาม “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ประกอบด้วย20เครือข่าย อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายงดเหล้าและบุหรี่ เครือข่ายเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายหมออนามัย เครือข่ายสุขภาวะผู้หญิง เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายนักวิชาการปฏิรูประบบสุขภาพ เครือข่ายผู้พิการและผู้สูงอายุ ฯลฯ ทั้งนี้ภายหลังการประชุมเครือข่ายสุขภาพทั้ง20เครือข่ายได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เพื่อแสดงจุดยื่นต่อกรณีการปลดบอร์ดกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสสส.ตามคำสั่งคสช.รวมถึงกรณีการสั่งชะลอ โครงการกว่า2,000โครงการที่ภาคประชาชนรับงบสนับสนุนจากสสส.

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง กล่าวว่า เริ่มรับทุนสนับสนุนโครงการจากสสส.มาตั้งแต่ปี54 ลักษณะงานคือการขับเคลื่อนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข รวมถึงพัฒนากลไกต่างๆของคนชนเผ่าชาติพันธุ์และผู้มีปัญหาสถานะที่รอพิสูจน์สัญชาติ ดังนั้นโครงการที่ทำถือเป็นโครงการต่อเนื่องหากสะดุดหรือชะลอโครงการออกไปโดยไม่มีกำหนดแบบนี้จะสร้างความเดือนร้อนให้กับการบริหารงานด้านสาธารณสุขของคนกลุ่มนี้อย่างมาก ซึ่งล่าสุดตนยังต้องสำรองเงินส่วนตัวใช้จ่ายไปแล้วกว่า 5 หมื่นบาท  ทั้งที่ปิดโครงการไปนานแล้ว และก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินคืนจากสสส.หรือไม่ นอกจากนี้ภาคีเครือข่ายที่เราทำงานร่วมกันก็ต้องยกเลิกสัญญายกเลิกกิจกรรมต่างๆที่วางแผนไว้ทั้งหมด ทำให้เสียภาคี ขาดความน่าเชื่อถือ คาดว่าในอนาคตคงไม่มีประชาชนคนไหนอยากเข้าร่วมหรืออยากทำงานด้วย

"ภาคีทุกคนเดือนร้อนส่งผลกระทบอย่างหนัก เกิดปัญหาหนี้สิน เพราะเมื่อโครงการถูกสั่งระงับก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย การทำงานโดยไม่มีหลักประกันและไม่มีความแน่นอน และหากยังต้องมีผลกระทบจากกรมสรรพากรที่โดยตรวจสอบภาษีย้อนหลังคงต้องกระทบหนักกว่านี้ อย่างไรก็ตามงานต้องเดินต่อเนื่อง รัฐบาลควรมีความยืดหยุ่นไม่ควรมาชะลอโครงการที่สร้างเสริมสุขภาพ อีกทั้งสสส.ก็ควรลุกขึ้นมาปกป้องคนทำงานด้วย หลังจากนี้ภาคีคงต้องอยู่อย่างหวาดผวารอฟังข่าววันต่อวัน เพราะไม่มีความชัดเจนใดๆ ถือเป็นการบั่นทอนกำลังใจของคนทำงาน อย่าลืมว่าการสร้างสังคมที่ดี สังคมเกิดความตื่นตัว ชนเผ่ามีกิจกรรมๆได้ทำเรื่องสุขภาพ ลดปัญหาจากปัจจัยเสี่ยง ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน มีบริการด้านสาธารณสุขที่ดีจากกองทุน โรงพยาบาลได้ประโยชน์โดยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องที่สำคัญและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะลำพังงบประมาณจากรัฐบาลไม่สามารถทำได้"นายวิวัฒน์ กล่าว

นายวิวัฒน์  กล่าวเพิ่มเติมกรณีการปลดบอร์ดสสส.ว่า ถือเป็นเรื่องที่สังคมรับไม่ได้ เพราะไม่มีมูลความผิดว่าทุจริตข้อหาใด ไม่รู้ว่ามีมูลความผิดเรื่องใดด้วยซ้ำ ผลประโยชน์ทับซ้อนก็ไม่มี เหตุผลของรัฐบาลจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นรัฐควรเอาเวลาไปสร้างความชัดเจนอย่ามาปลุกกระแส อย่าทำให้สังคมเข้าใจผิด เพราะสุดท้ายแล้วภาพลักษณ์ที่สะสมมาจะหายไปหมด

นายมนัส  โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคีภาคแรงงานได้รับทุนจากสสส.ในนามคณะกรรมการเครือข่ายผู้ประกันสังคมคนทำงาน(คปค.)ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่ปฏิเสธการตรวจสอบ หรือปรับปรุงปฏิรูปสสส.เพียงแต่ส่วนไหนที่ไม่เกิดประโยชน์กับสังคมก็ควรทำเป็นรายองค์กรไปไม่ใช่มาเหมารวม ภาคีร่วมกันขับเคลื่อนงานประกันสังคมมากว่า2ปี โดยรับงบจากสสส.ซึ่งไม่ได้มากมายอะไร เราเน้นลงพื้นที่สร้างความเข้าใจพี่น้องประชาชนเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงเรื่องสวัสดิการต่างๆ นอกจากนี้คปค.ยังได้รับงบจากสสส.ให้ทำเรื่องยาเสพติด เพื่อสุขภาพที่ดี เกิดโรงงานสีขาวโรงงานต้นแบบถึง14โรงงาน และล่าสุดมีกฎหมายที่เราพยายามขับเคลื่อนจนสำเร็จคือ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน  สามารถตรวจสอบองค์กรประกันสังคมที่ดูแลโดยรัฐบาลได้ จนล่าสุดคสช.มีมติใช้มาตรา44 ปลดบอร์ดสสส.ชุดเดิมออกไป  ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนเป็นอย่างมาก

นายมนัส กล่าวว่า อย่าลืมว่าภาษีบาปเป็นภาษีที่กลุ่มคนรากหญ้าเข้าถึง ซึ่งแตกต่างจากรัฐที่เราไม่เคยได้เข้าถึงงบประมาณตรงนี้เลย  และสถานการณ์ปัจจุบันทำให้โครงการที่ค้างอยู่หลายพันโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมต้องหยุดชะงัก ดังนั้นรัฐบาลต้องทบทวนใหม่ ไม่เหมารวม อย่าทำให้คนบริสุทธิ์ที่มุ่งทำงานขาดงบประมาณไม่สามารถเดินหน้าต่อได้  อีกทั้งรัฐบาลจะขาดโอกาสที่เคยพูดว่าปฏิรูปประเทศเพื่อความโปร่งใสลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมในสังคม สิ่งเหล่านี้จะเดินหน้าไม่ได้

"ฝากถึงรัฐบาลหากจะใช้อำนาจก็ควรศึกษารายละเอียดให้มากกว่านี้ว่าโครงการไหนที่เป็นประโยชน์กับสังคม โครงการไหนที่ธุจริต ทำเป็นรายโครงการไป เพราะสามารถตั้งกรรมการตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันกรณีเก็บภาษีย้อนหลังเพราะสตง.ตีความว่าเป็นการรับจ้างทำของ ดังนั้นรัฐบาลต้องแยกให้ชัดว่าการเก็บภาษีโครงการย้อนหลังเหล่านี้เป็นหน่วยงานองค์กรหรือเป็นผู้รับทุนที่แสวงหาผลกำไรหรือไม่ หลังจากนี้จะทำอย่างไรให้นายกฯหรือคนมีอำนาจเข้าใจภารกิจของสสส.เกิดคำถามว่านายกฯได้รับข้อมูลและรายละเอียดต่างๆอย่างรอบด้านหรือไม่ เพราะคนที่ชงเรื่องเข้าไปให้นายกฯพิจารณาอาจจะเอาสิ่งที่เลวร้ายเข้าไปสร้างความคลาดเคลื่อน ขาดข้อมูลรอบด้าน เมื่อออกคำสั่งก็เท่ากับเป็นการทำลายคนทำงานซึ่งในเร็วๆนี้ภาคีเครือข่ายภาคแรงงานจะขอเข้าพบนายกฯเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง  และจะมีตัวแทนภาคีไปพบผู้ว่าราชการทุกจังหวัด  ตลอดจนเข้าผมอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อร้องเรียนปัญหา  รวมถึงมีข้อเสนอในการปฏิรูป สสส. ให้เป็นรูปธรรม"นายมนัส กล่าว