posttoday

สสส.ห่วงโจ๋ติดสื่อโซเชียล เผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

23 ธันวาคม 2558

สสส.จับมือมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชนโชว์ผลงานนักศึกษาผลิตสื่อสีขาวลดปัจจัยเสี่ยงโจ๋ติดสื่อยุคโซเชียล

สสส.จับมือมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชนโชว์ผลงานนักศึกษาผลิตสื่อสีขาวลดปัจจัยเสี่ยงโจ๋ติดสื่อยุคโซเชียล

เมื่อวันที่ 23ธ.ค.58 เวลา13.00 น.ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมนิทรรศการนำเสนอผลงานการผลิตสื่อรณรงค์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต  และมหาวิทยาลัยศรีปทุม   เพื่อนำไปใช้เป็นสื่อรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง ภายในงานมีการมอบโล่และเกียรติบัตรแก่สถานศึกษาและเยาวชน

จากนั้นมีการเสวนาหัวข้อ“สื่อเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง” นพ.บัณฑิต  ศรไพศาล ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก  สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเยาวชนต้องอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรอบด้านไม่ว่าจะมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ที่พบว่ามีสถิติการดื่มของเยาวชนสูงถึง2.5 ล้านคน เกิดนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 2.5แสนคน  โดยประชากรกลุ่มวัยอื่นพบว่ามีแนวโน้มที่ลดลง ในขณะที่การสูบบุหรี่ของเยาวชนอายุ15-24 ปี พบว่าอยู่ที่ร้อยละ14.7  ที่น่าห่วงคือเด็กที่ติดบุหรี่7ใน10คนไม่สามารถเลิกได้ไปตลอดชีวิต  ในมิติของยาเสพติดก็พบว่าจำนวนผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดในช่วง5ปียังคงเป็นกลุ่มเยาวชนช่วงอายุ20-24 ปี ซึ่งจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและยังเป็นกลุ่มหลักที่เข้ารับการบำบัดรักษา

นอกจากนี้ในปัญหาการพนัน  พบว่าการพนันฟุตบอลมีเยาวชนตกเป็นเหยื่อแล้วนับแสนราย และวงเงินที่ใช้เล่นอยู่ที่ประมาณ 36,000บาทต่อคน ต่อปี ทั้งนี้ ยังพบปัจจัยเสี่ยงด้านอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราก็น่ากังวลไม่แพ้กัน เนื่องจากวัยรุ่นอายุ15-19  ปีเป็นกลุ่มคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนมากที่สุดและสถิติอุบัติเหตุของไทยติดอันดับ2 ของโลก  โดยอัตราการไม่สวมหมวกนิรภัยของวัยรุ่นยังมีสถิติที่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่นการใช้ชีวิตประมาท คึกคะนอง การได้รับสื่อซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากกับเยาวชนในเวลานี้

“การรู้เท่าทันและร่วมพัฒนาเครือข่ายเยาวชนถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องช่วยกันส่งเสริมผลักดันและกิจกรรมครั้งนี้จะช่วยให้เขามีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานได้โชว์ไอเดีย  เทคนิคต่างๆสู่การเป็นผู้ผลิตสื่อรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงสร้างการรับรู้ผ่านสังคม โดยเฉพาะการสื่อสารกับคนวัยเดียวกัน ซึ่งขณะนี้เรามีสถานศึกษานำร่องได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยรังสิต  เข้าร่วมโครงการ  ผลงานต่างๆได้ถูกนำไปเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ สถานีโทรทัศน์เคเบิ้ล และนำมาสู่การจัดนิทรรศการในครั้งนี้  ทั้งนี้ สสส.จะขยายเครือข่ายเยาวชนที่มีความสามารถในการผลิตสื่อ เข้าใจประเด็นสุขภาวะและปัจจัยเสี่ยงรวมทั้งต่อยอดการดำเนินงานร่วมกับสถานศึกษาต่างๆ  เพื่อให้สังคมตระหนักถึงอิทธิพลของสื่อ และปัจจัยเสี่ยงที่มีต่อเยาวชนต่อไป”นพ.บัณฑิต กล่าว

ดร.ศรีรัช  ลาภใหญ่ ลอยสมุทร อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้อิทธิพลจากสื่อมีผลต่อเยาวชนอย่างมากและมีแนวโน้มที่น่าห่วงเนื่องจากไม่สามารถห้ามการรับรู้ห้ามการเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้ได้เลย ยิ่งวัยที่อายุยังน้อยการรู้เท่าทันก็จะน้อยกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้นทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือติดอาวุธสร้างการรู้เท่าทันสร้างภูมิคุ้มกัน และสถาบันการศึกษาจะต้องมีวิชาสอดแทรกเรื่องผลกระทบจากสื่อ สถาบันครอบครัวต้องสอน ปลูกฝัง โดยเฉพาะเด็กชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพราะหากไม่เร่งทำ เมื่อเด็กรับรู้อะไรจากสื่อก็จะมองว่ามันคือเรื่องจริง เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่นกรณีดาราคนมีชื่อเสียงโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เด็กก็จะมองว่ามันคือสิ่งที่ทันสมัย เหมาะสม เป็นแฟชั่น จนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม ดังนั้นก่อนที่เด็กเหล่านี้จะไปถึงสิ่งเหล่านั้นเราต้องป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสื่อโซเชียล  ต้องฉุกคิดไตร่ตรองก่อนเชื่อและแชร์ และขณะนี้มหาวิทยาลัยรังสิตเองจะมีวิชารู้เท่าทันสื่อบรรจุอยู่ในหลักสูตร  ในกิจกรรมวิชานั้นๆอยากเชิญชวนให้ทุกมหาวิทยาลัยหันมาทำหลักสูตร กิจกรรมรู้เท่าทันสื่อในทุกๆสาขาวิชา หันมาสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสื่อ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังปัจจัยเสี่ยงต่าง  ที่เป็นหลุมดำของเยาวชน

ขณะที่นายธีรพันธ์  ชนาพันธ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองได้มีส่วนร่วมลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยง  เช่น เหล้า บุหรี่  อุบัติเหตุ รวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้นอกจากนี้ยังส่งเสริมเน้นให้นักศึกษาหาข้อมูลและนำมาผลิตสื่อให้เป็นสื่อสีขาว ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ทราบรายละเอียดฝึกการทำงานเป็นทีม ได้สื่อสารประเด็นอย่างรอบด้าน รวมถึงเราร่วมกับหลายภาคส่วนเพื่อให้เด็กได้ประกวดผลงานเกิดความภาคภูมิใจและวันนี้ก็มานำเสนอการผลิตสื่อที่เป็นคลิปวีดีโอ 2  เรื่อง  คือรณรงค์สวมหมวกนิริภัยและการรณรงค์ร้านเหล้าห่างจากสถานศึกษา ซึ่งนักศึกษาเขามีแนวคิดว่าทำอย่างไรจะให้ปัจจัยเสี่ยงห่างไกลจากสถานศึกษา โดนเน้นกลุ่มเป้ามายที่เป็นวัยรุ่น สื่อสารแบบเข้าใจรับรู้ได้ง่าย  นอกจากเราจะได้ชิ้นงานดีๆเข้าใจง่ายแล้ว  ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้นักศึกษา  ใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยงอีกทางหนึ่งด้วย