posttoday

วอนขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อลดการสูบบุหรี่ในคนจน

30 สิงหาคม 2558

เลขาฯมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เรียกร้องรัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่หวังลดการสูบบุหรี่ในคนจน

เลขาฯมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เรียกร้องรัฐบาลขึ้นภาษีบุหรี่หวังลดการสูบบุหรี่ในคนจน

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อลดการสูบบุหรี่ในคนจน โดยจากการเปิดเผยของสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่พบว่าค่าใช้จ่ายการซื้อบุหรี่ของคนไทยในไตรมาสที่สองของปีนี้เท่ากับ 15,212  ล้านบาท  ซึ่งหากนำจำนวนผู้สูบบุหรี่ตามฐานะมาคำนวณ  จะพบว่าเป็นค่าใช้จ่ายบุหรี่ของคนที่ยากจนที่สุด  565  ล้านบาท  ที่เป็นผู้สูบบุหรี่ 1.3  ล้านคนที่มีรายได้ 1,982  บาทต่อคนต่อเดือน และของคนที่ฐานะยากจน 783  ล้านบาท ที่เป็นผู้สูบบุหรี่ 1.85  ล้านคน  ที่มีรายได้ 6,097  บาทต่อคนต่อเดือน  โดยรวมแล้วเป็นค่าซื้อบุหรี่ที่มาจากคนที่จนและจนที่สุด 1,348  ล้านบาทสำหรับไตรมาสที่สอง

ทั้งนี้การขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2555  ซึ่งผลของการขึ้นภาษีได้หมดไปแล้วตั้งแต่หกเดือนหลังการขึ้นภาษี  จากการที่บริษัทบุหรี่แก้เกมโดยการออกบุหรี่ยี่ห้อใหม่ที่มีราคาถูก  รวมทั้งการผลิตบุหรี่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่าหนึ่งกรัมต่อมวน  เพื่อลดภาระภาษีที่คิดตามน้ำหนัก การว่างเว้นจากการขึ้นภาษีมาสามปี  ทำให้คนสูบบุหรี่สูบมากขึ้น ซึ่งการขึ้นภาษีเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนจนไม่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้น และทำให้วัยรุ่นเข้ามาติดบุหรี่ใหม่น้อยลง  และหากไม่มีการขึ้นภาษี  มาตรการทางกฎหมายและการรณรงค์อื่น ๆ จะได้ผลน้อย  และการรณรงค์ไม่สูบบุหรี่โดยหน่วยงานต่าง ๆ ก็เพื่อสร้างเงื่อนไขภาวะแวดล้อมทางสังคม 

"ขอให้รัฐบาลมีความกล้าหาญที่จะขึ้นภาษีบุหรี่  ซึ่งการขึ้นภาษีบุหรี่ เพราะนอกจากจะทำให้คนจนสูบบุหรี่ลดลงแล้ว ยังทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น  ขณะที่เมื่อคนสูบบุหรี่น้อยลงการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ก็จะลดลง  ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ลดลงด้วย  รัฐบาลจึงควรขึ้นภาษีบุหรี่โดยเร่งด่วน"ศ.นพ.ประกิตกล่าว

ศ.นพ.ประกิตกล่าวว่า ระหว่าง พ.ศ.2536-2555  มีการขึ้นภาษีรวมสิบครั้ง เฉลี่ยสองปีต่อครั้ง  ทำให้รัฐบาลซึ่งเก็บภาษียาสูบได้ในปี พ.ศ.2536  จำนวน  15,345  ล้านบาท เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 61,000 ล้านบาทในปี พ.ศ.2557  ในขณะที่ยอดจำหน่ายบุหรี่ซิกาแรตทรงตัวอยู่ที่ปีละ 2,000  ล้านซอง  จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.3  ล้านคน  เหลือ 11.4  ล้านคน และอัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยลดลงจาก 59.3%  เหลือ 40.7%  ในช่วงเวลายี่สิบปี  อันเป็นหลักฐานยืนยันว่าการขึ้นภาษียาสูบส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจของประเทศและสุขภาพของประชาชน