posttoday

กระเทาะเปลือกวิธีคิด “ค่ารักษา” เหตุผลที่ “โรงพยาบาลเอกชน” แพงกว่า “โรงพยาบาลรัฐ”

03 มิถุนายน 2558

ปัญหา“ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน”โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเก็บค่ารักษาเกินจริง การโก่งราคาค่ายา รวมถึงการเข้าใจว่าแพทย์เลี้ยงไข้เพื่อเก็บค่ารักษาแพง เพราะเมื่อเข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่กลับเจอโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา ด้วยเพราะพยาธิของโรคแฝงในแต่ละคนกลับไม่เหมือนกัน ทำให้ค่ารักษาสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

ปัญหา“ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน”โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเก็บค่ารักษาเกินจริง การโก่งราคาค่ายา รวมถึงการเข้าใจว่าแพทย์เลี้ยงไข้เพื่อเก็บค่ารักษาแพง เพราะเมื่อเข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่กลับเจอโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา ด้วยเพราะพยาธิของโรคแฝงในแต่ละคนกลับไม่เหมือนกัน ทำให้ค่ารักษาสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

เรื่องเหล่านี้มักปรากฏเป็นข่าวร้องเรียนบนพื้นที่สื่ออยู่เป็นประจำ จนเกิดการเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง“สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ” รวมถึง “กรมการค้าภายใน” เข้ามาตรวจสอบและกำหนดแนวทางเพื่อควบคุมราคายา ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน ให้ลดระดับลงมาใกล้เคียงกับอัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลรัฐ   

หากในความเป็นจริง มีปัจจัยอื่น ๆ แฝงอยู่ในการกำหนดอัตราราคายาและค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง เป็นผลให้ค่ารักษาและราคายาของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐแตกต่างกัน ซึ่งเป็นที่มาของ “ข้อสงสัย” ว่าทำไม โรงพยาบาลเอกชนถึงไม่สามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ในอัตราเดียวกับโรงพยาบาลของรัฐ

โดยทั่วไปการก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาแห่งหนึ่ง ล้วนมีเงินลงทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำเนินการต่างกันไปตามขนาดและระดับมาตรฐานของแต่ละแห่ง ต้นทุนแต่ละหมวดแบ่งเป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ เงินเดือนแพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาล เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งหากโรงพยาบาลนำเข้ายาจากต่างประเทศ เน้นแพทย์ที่เชี่ยวชาญ บุคลากรมีประสบการณ์ หรือใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายย่อมสูงขึ้นตามเป็นปกติ

นอกเหนือจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น มูลค่าที่ดินตามทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาล ต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสถานที่ การกู้ยืมเงินมาลงทุน เงินปันผลตอบแทนผู้ลงทุน ฯลฯ ที่นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุน และกลายเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความแตกต่างให้กับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งแม้เป็นโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันก็ตาม

ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้คิดค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นการบริหารความเสี่ยงของโรงพยาบาลในรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากการบริหารงานโรงพยาบาลเอกชนในอดีตเสี่ยงต่อการขาดทุน การรวมกลุ่มจะของผู้ลงทุนจะช่วยให้โรงพยาบาลพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ เช่น โรงพยาบาลเอกชนในประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

อีกทั้งโรงพยาบาลของรัฐได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และกฎหมายอีกหลายฉบับ ในกระบวนการรักษา และวินิจฉัยของโรงพยาบาลเอกชน ต้องใช้แพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่สามารถใช้บุคคลระดับอื่นได้ ส่งผลให้เอกชนมีต้นทุนสูงกว่า

ขณะที่เป้าหมายในการรักษาโรคของโรงพยาบาลเอกชนยังมีความแตกต่าง โดยจะทำการตรวจอย่างละเอียดเพื่อแยกแยะหาสาเหตุของโรค ซึ่งหากพบปัจจัยเสี่ยงหรือการเจ็บป่วยร่วม ก็จะให้ข้อมูลแนะนำและดำเนินการรักษาอย่างครอบคลุม เพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน มิได้เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นไปยังโรคที่พบเพียงโรคเดียว หรือรักษาเพียงให้อาการป่วยทุเลา ทั้งนี้รายละเอียดค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนทุกโรง “ผู้ป่วย” และ “ญาติผู้ป่วย” สามารถรับทราบและตรวจสอบได้ ณ จุดตรวจเช็คภายในสถานบริการตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 32 วรรค 3 และมาตรา 33 วรรค 1

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้ค่ารักษาของแต่ละโรงพยาบาลเอกชนแตกต่างกัน เช่น แม้จะป่วยเป็นโรคเดียวกันแต่มีภาวะซับซ้อนของโรคต่างกัน เช่น ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบแบบแตกหรือไม่แตก รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษาที่ไม่เหมือนกัน เช่น การทำCTสแกน หรืออัลตร้าซาวด์ เป็นต้น

หากกล่าวโดยสรุป โรงพยาบาลเอกชนเป็น “โรงพยาบาลทางเลือก” ในระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลของรัฐ ในแง่ลดความแออัด และกระจายโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรัฐไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล

...ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของตัวเลขบนใบเสร็จ ที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง2-3เท่า เป็นอย่างน้อย.

 

                             โดย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน
“โรงพยาบาลเอกชน”คุณค่าคู่สังคม…ที่ถูกมองข้าม

 

 

Advertorial