posttoday

"ธนาคารสบู่ใช้แล้ว"ในกัมพูชา การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อผู้ยากไร้

28 มิถุนายน 2560

75% ของคนในชนบทของกัมพูชาขาดแคลนสบู่เพื่อใช้ทำความสะอาดร่างกายเพื่อสุขอนามัย

โดย...พริบพันดาว

75% ของคนในชนบทของกัมพูชาขาดแคลนสบู่เพื่อใช้ทำความสะอาดร่างกายเพื่อสุขอนามัย เพราะเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาแพงกว่ามาตรฐานค่าครองชีพในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้มีอัตราการตายของเด็กที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในขณะที่อุตสาหกรรมโรงแรมเพื่อการท่องเที่ยวใช้สบู่อย่างฟุ่มเฟือยและทิ้งไปอย่างเปล่าประโยชน์ เนื่องจากใช้มาตรฐานตะวันตกวัดว่าสบู่เป็นของราคาถูก

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development : UNCSD) “Rio+20” ซึ่งมีหัวข้อหลักในการประชุมที่เกี่ยวข้อง คือ เศรษฐกิจสีเขียวในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน และการขจัดความยากจน (Green Economy in the Context of Sustainable Development and Poverty Eradication) ซึ่งเกิดมาจากการตระหนักว่า

“การให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนนั้น กลับต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่า และคุณภาพสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมลง รวมทั้งยังเกิดปัญหาการกีดกันทางสังคม คนจนไม่ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาเท่าที่ควร”

ธนาคารสบู่ประหยัดทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรืออีโค-โซป แบงก์ (Eco-Soap Bank) ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในท็อป 10 ซีเอ็นเอ็น ฮีโร่ น่าจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่กำลังมุ่งเป้าหมายนั้นของสหประชาชาติ

ธนาคารสบู่ประหยัดทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 2014 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้วทำงานเชิงรุกด้วยการรับบริจาคสบู่ที่ใช้แล้วเหลือทิ้งของโรงแรมในประเทศกัมพูชา มาผลิตสบู่ขึ้นใหม่

"ธนาคารสบู่ใช้แล้ว"ในกัมพูชา การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อผู้ยากไร้

ภารกิจขององค์กรธนาคารสบู่ประหยัดทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คือต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บและเพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้นจากการรักษาความสะอาดขั้นพื้นฐาน จากความขาดแคลนสบู่ เนื่องจากมีราคาแพงเกินไปไม่เหมาะสมกับค่าของชีพของคนในกัมพูชา โดยมีความร่วมมือกับอุตสาหกรรมโรงแรม ในการรับบริจาคสบู่ที่เหลือทิ้งในโรงแรมต่างๆ ทั่วกัมพูชาที่เกิดจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงพัฒนาทักษะฝีมือในการผลิตสบู่ที่เกิดจากวัตถุดิบสบู่เหลือใช้กลับนำมาใช้ใหม่โดยกลุ่มผู้หญิงในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ยากจน เพื่อสร้างอาชีพยกระดับมาตรฐานการครองชีพ

การจ้างงานในเชิงเศรษฐกิจที่มีความคุ้มค่าและลงลึกไปถึงชาวบ้านในท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ขาดแคลนและยากจนมาดำเนินการผลิตสบู่ที่ใช้แล้วให้เป็นสบู่ก้อนใหม่ตามศูนย์การผลิตชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ โดยมีผู้ร่วมสนับสนุนองค์กรนี้ด้วยการนำสบู่แจกจ่ายไปยังโรงเรียน ชุมชนในหมู่บ้านต่างๆ และสถานีอนามัย เพื่อนำไปใช้งาน รวมทั้งการฝึกฝนให้ผู้หญิงในหมู่บ้านตามท้องถิ่นต่างๆ ให้เป็นผู้ขายสบู่ราคาประหยัดนี้อีกด้วย

สำหรับสบู่อีโค-โซปนั้น ใช้การตัดและขูดสบู่เหลือใช้จากโรงแรมต่างๆ ซึ่งมีสีสันต่างกันให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาแช่สารละลายคลอรีน ก่อนนำไปบีบอัดเป็นแท่งใหม่ มีการเติมกลิ่นใบชามะลิ และดอกไม้ที่เก็บจากข้างทางลงไปเพื่อเพิ่มความหอมด้วย

การเพิ่มประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต เพื่อนำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการ ณ เวลาปัจจุบัน โดยไม่ส่งผลกระทบที่จะทำให้ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นถัดไปลดน้อยลง

 

"ธนาคารสบู่ใช้แล้ว"ในกัมพูชา การพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อผู้ยากไร้

โครงการนี้เริ่มต้นที่ ซามีร์ ลัคฮานี วัยรุ่นผู้ก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคมกิจการนี้ เป็นอาสาสมัครในการขุดบ่อเลี้ยงปลาเพื่อการบริโภคให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านที่ห่างไกลและทุรกันดารในกัมพูชา เขาได้เห็นแม่อาบน้ำให้ลูกๆ ด้วยผงซักฟอก เนื่องจากขาดแคลนสบู่เพราะมีราคาแพง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว หลังจากที่เขาได้ไปศึกษาเรียนรู้เรื่องระบบสุขอนามัย และติดต่อเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ในการผลิตสบู่รีไซเคิลหรือสบู่ที่ใช้แล้วมาผลิตใหม่ ทำให้เกิดสบู่ก้อนใหม่ด้วยต้นทุนที่ถูกลงอย่างมาก และเรียกว่า อีโค-โซป (Eco-Soap)

ปัจจุบัน องค์กรธนาคารสบู่ประหยัดทรัพยากรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถจ้างงานลูกจ้างผู้หญิงใน 25 ชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ของกัมพูชาทั่วประเทศ รวมถึงแจกสบู่ไปมากกว่า 6.5 แสนก้อน ทั่วประเทศกัมพูชา ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในเมืองเสียมราฐ กรุงพนมเปญ และเมืองสีหนุวิลล์ และปัจจุบันกำลังขยายไปสู่เมืองรัตนคีรี ซึ่งมีอัตราเสี่ยงของประชากรในการขาดสุขอนามัยที่ดีมากกว่า 5 หมื่นคน

ภาพ : ecosoapbank.org