posttoday

‘ธรรมธุรกิจ’ เศรษฐกิจพอเพียงของเถ้าแก่โรงสี

25 ธันวาคม 2559

เพียงการลงทุนซื้อหุ้นหุ้นละ 101 บาท ผ่านมากว่า 3 ปี วันนี้ “ธรรมธุรกิจ” มีสมาชิกประมาณ 600 คน เงินทุนประมาณ 7 ล้านบาท

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

เพียงการลงทุนซื้อหุ้นหุ้นละ 101 บาท ผ่านมากว่า 3 ปี วันนี้ “ธรรมธุรกิจ” มีสมาชิกประมาณ 600 คน เงินทุนประมาณ 7 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์เกษตรแบบธรรมชาติ ทั้งข้าวเหนียวกล้อง ผักปลอดสารพิษ สมุนไพรบ้วนปาก น้ำยาล้างจากจากมะกรูด ครีมทาผิว รวมทั้งสเปรย์บรรเทาปวดจากสมุนไพรธรรมชาติ โดยมีแนวโน้มที่จะขยายได้อีกในอนาคต

ชีวิตของธุรกิจก็อาจเป็นเช่นเดียวกับชีวิตคน ผ่าน ทุกข์ สุข ประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ หรือร่วงโรยตกต่ำ เพียงแต่หากมี “ธรรม” เป็นหลักกำหนด ยามสุขก็จะพบกับความสงบนิ่งและยามที่พบทุกข์ก็ทำใจให้ผ่อนคลาย บรรเทาปัญหาหนักให้เบาลงได้

“เป้าหมายธุรกิจของผม คือ ธุรกิจที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกกลุ่ม ไม่มีกลโกงและเอาเปรียบกันและกันการอยู่อย่างพอเพียงทำแบบคนจน แต่ไม่ได้หมายถึงต้องทำตัวเป็นคนจน ทำง่ายๆ อยู่ง่ายๆ ทุนน้อย ภายใต้ 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พอใจ พอเพียง” หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ หนุ่มใหญ่วัย 42 ปี ผู้จัดการทั่วไป “ธรรมธุรกิจ” บอกถึงเป้าหมายของเขา

แม้จะมีเป้าหมายทางธุรกิจที่ไม่หวังผลกำไรแบบสุดโต่งและออกไปในแนวบุญนิยม แต่หนาวนั้นมิใช่มือใหม่ที่เพิ่งทำธุรกิจ เขาคือเจ้าของโรงสีข้าวศิริภิญโญ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้รับซื้อข้าวทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวรายใหญ่ในพื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือ มาตั้งแต่อายุได้ 25 ปี จนถึงวันนี้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของเขานั้นมีมากถึง 17 ปี

ในอดีตหนาวก็เป็นเช่นวัยรุ่นทั่วไปที่เรียนรู้ชีวิต ครั้งหนึ่งเขาบอกว่าเคยคิดที่จะทำร้ายตัวเองจากการพบเจอปัญหาสารพัด แต่ก็หยุดยั้งตัวเองไว้ได้ ต่อมาปี 2541 ได้ตัดสินใจบวชตามคำขอของมารดา แต่ขอบวชและปฏิบัติธรรมในวัดที่อยู่ห่างไกลและสงบ จึงได้บวชและปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสายหลวงตาบัว จ.อุดรธานี

ผ่านไป 1 พรรษา หรือ 3 เดือน ศึกษาพระธรรมทำให้เข้าใจชีวิตได้ลึกซึ้งขึ้นจนไม่อยากลาสิกขาบท แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ทางบ้านมาขอให้ไปรับช่วงธุรกิจโรงสีต่อจากบิดา จึงรับปากทางบ้านจะลาสิกขาบทออกมารับช่วงธุรกิจโรงสีแต่ขอเวลาถึงปี 2542

‘ธรรมธุรกิจ’ เศรษฐกิจพอเพียงของเถ้าแก่โรงสี พิเชษฐ

 

หลังสึกออกมารับช่วงบริหารธุรกิจโรงสีของครอบครัว หนาวจึงหารือกับพี่ชายเรื่องธุรกิจซื้อขายข้าวเปลือก เมื่อศึกษาข้อมูลแล้วประกอบกับคำแนะนำของพี่ชาย จึงตัดสินใจเลือกซื้อขายข้าวเหนียว ตลาดข้าวที่รับซื้อส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเหนือ เช่น จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย เป็นต้น

ชีวิตของนักธุรกิจโรงสีไม่ได้ราบรื่นหรือสวยหรูนัก เจอทั้งปัญหาสารพัด เมื่อปี 2551 “หนาว” ต้องรับบทนักเจรจาเพื่อสลายม็อบข้าวปิดถนน ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ครั้งนั้นหนาวได้ประสบการณ์ครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตที่ยังคงดำเนินถึงทุกวันนี้

“ปี 2551 มีเหตุการณ์ม็อบชาวนาที่ อ.พาน จ.เชียงราย ปิดถนนเพราะข้าวเหนียวราคาถูก ผมเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าวเหนียว รัฐบาลขอร้องให้ผมช่วยเรื่องเจรจากับกลุ่มชาวนาที่ชุมนุม จนม็อบสลายตัว จากประสบการณ์ในครั้งนั้น ผมได้สัมผัสกับบุคคลหลายลักษณะ ผมเชื่อใจผู้ใหญ่บางท่านได้ให้คำมั่นกับผมไว้เพื่อขอให้ผมช่วยเหลือรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดผมคือคนที่ถูกปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ เมื่อผมช่วยชาวนาแล้วผมถูกทิ้งและกลายเป็นจำเลยในชั้นศาลจนถึงทุกวันนี้ การต่อสู้ของผมยังคงดำเนินต่อไป ไม่ท้อครับ สู้ต่อไป (ยิ้ม)”

จุดเปลี่ยนสำคัญของหนาวเกิดขึ้นในปี 2556 เขามีโอกาสได้พบกับ “อาจารย์ยักษ์” หรือ วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ “โจน จันใด” กูรูบ้านดิน ซึ่งทำให้วิถีการทำธุรกิจของหนาวเปลี่ยนแปลงไป

“ผมได้พบกับอาจารย์ทั้งสอง ในใจคิดว่าคงต้องเสียเงินอีกแล้ว เพราะว่าการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจ่าย แต่เห็นอาจารย์ทั้งสองคุยกันแล้วยิ่งคุยยิ่งสนุก ไม่คุยเรื่องเงินสักที คุยกันแต่เรื่องเกษตร เรื่องธรรมชาติ ได้เห็นความชัดเจนเรื่องบันได 9 ขั้น เรียนรู้ “ศาสตร์ของพระราชา” เลิกทำนาที่เป็นหนี้และรายได้ลดลง ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นความคิด ธรรมธุรกิจ ของผม”

เขาบอกว่า ธรรมธุรกิจ ยิ่งทำยิ่งสนุกกับชีวิตทุกวัน มีความสุข มันท้าทาย แต่ไม่ทำอะไรให้ยุ่งยาก ง่วงก็นอนพัก กำหนดลมหายใจแล้วก็หลับ ไม่ต้องห่วงอะไรมาก ทำง่ายๆ อยู่ง่ายๆ ทุนน้อย ภายใต้ 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พอใจ พอเพียง ทำธุรกิจให้เกิดความเป็นธรรม สั่งสมบุญบารมีให้เหลือชาติที่ต้องกลับมาเกิดน้อยที่สุด

เพียงหุ้นละ 101 บาท ไม่ว่าจะถือกี่หุ้น แต่ทุกคนก็มีสิทธิเพียงแค่ 1 เสียงเท่าเทียมกัน เป็นเจ้าของบริษัทเจ้าของโรงสีเพื่อชาวนาร่วมกัน เพื่อยืนหยัดธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

“ผู้ถือหุ้นมี 2 ประเภท คือ 1.ผู้ถือหุ้นที่ผ่านการฝึกอบรมกับอาจารย์ยักษ์และอาจารย์โจน ผ่านเรื่องทฤษฎีบันได 9 ขั้นมาแล้ว จึงจะมีสิทธิและเสียงในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนลงคะแนนเสียงหรือโหวตได้เพราะมี 1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะมีหุ้น 100 บาท หรือ 1 ล้านบาท ก็มี 1 เสียงเท่ากัน และ 2.ผู้ถือหุ้นปกติ ลงหุ้นเป็นตัวเงินแต่ไม่ได้ผ่านการอบรมจึงไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นใดๆ”

เหตุที่ต้องใช้ระบบลงหุ้น ก็เพื่อเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน