posttoday

ย้อนรอยขุมทรัพย์กลางกรุง บ้านไม้สักทองอายุ 150 ปี ที่เจ้าของพร้อมขายในราคา 300 ล้าน

24 กันยายน 2560

ย้อนรอยเรื่องราวบ้านไม้สักทองอายุกว่า 150 ปีพร้อมที่ดิน ที่ แม่ชีกรรณิการ์ ตัดสินใจยอมขายแล้วในราคา 300 ล้านบาท

โดยโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ ภาพบางส่วนจากเพจเฟซบุ๊ก รัตนโกสิเนหา Rattanakosineha

ในที่สุด แม่ชีกรรณิการ์ ชมศิริ เจ้าของบ้านโบราณที่สร้างจากไม้สักทองทั้งหลัง อายุกว่า 150 ปี บนถนนกรุงธนบุรี ก็ตัดสินใจขายบ้านพร้อมที่ดินแล้ว หลังก่อนหน้านี้ปฏิเสธมาตลอด โดยระบุว่า หากได้ราคาสูงถึง 300 ล้านบาทจริง ก็ยินดีขายเนื่องจากเป็นราคาที่สูงมาก

วันนี้โพสต์ทูเดย์พาย้อนกลับไปดูเรื่องราวเมื่อปี 2559 ที่แม่ชีกรรณิการ์ ปฏิเสธเงิน 85 ล้านบาทจากนายทุน

เมื่อวันนั้นแม่ชีกรรณิการ์วัย 80 ปี เอ่ยปากว่า "ภูมิใจที่ได้รักษาสิ่งที่บรรพบุรุษมอบให้ไว้ และจะทะนุถนอมต่อไป วันหนึ่งเมื่อเราไม่อยู่แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่เมื่อเรายังอยู่ ให้ 100 ล้านก็ไม่ขาย”

บ้านหลังนี้มีเนื้อที่รวม 167 ตารางวา ตั้งอยู่เลขที่ 34 ซอยกรุงธนบุรี 2 แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน ใกล้สถานีบีทีเอสวงเวียนใหญ่ โดยสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นอกเหนือไปจากความผูกพัน ภาพความเหน็ดเหนื่อยของบรรพบุรุษถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอปฎิเสธเงินหลายสิบล้าน

“สมัยก่อนครอบครัวเราประกอบอาชีพค้าขาย รอบๆบ้านเป็นสวนผลไม้มากมายหลายชนิด ทั้งมะม่วง มะพร้าว มะนาว ส้มโอ ลิ้นจี่ ครอบครัวช่วยกันเก็บและแจวเรือไปขายผลไม้ หมากพลู ที่ท่าเตียนและท่าพระจันทร์ ทุกคนรักบ้านหลังนี้มาก เพราะสร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง ฝนตกฟ้าร้อง ก็ต้องไปขายของ จนสะสมเงินทอง ได้บ้านได้ที่ดินมาให้เราอาศัย ในอดีตพื้นที่กว้างใหญ่กว่านี้มาก แต่แบ่งขายให้เพื่อนบ้านจนเหลือเท่านี้”

ย้อนรอยขุมทรัพย์กลางกรุง บ้านไม้สักทองอายุ 150 ปี ที่เจ้าของพร้อมขายในราคา 300 ล้าน

 

ที่ผ่านมามีนายทุนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ติดต่อขอซื้อที่ดินผืนงามแห่งนี้ ด้วยมูลค่ามหาศาล แต่ก็ถูกปฎิเสธเรื่อยมา ไล่ตั้งแต่ราคา 50 ล้านบาท จนกระทั่งไต่ระดับมาถึง 85 ล้านบาท

บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่อาศัยของแม่ชีกรรณิการ์และลูกหลานรวม 10 คน เป็นลักษณะทรงปั้นหยา 2 ชั้น ประกอบไปด้วยห้องพระ ห้องโถง ห้องเก็บของ และห้องนอนอีก 2 ห้อง สามารถเปิดบานเฟี้ยมซึ่งเป็นฉากกั้น เชื่อมต่อถึงกันได้ทั้งหมด ภายในบ้านถูกตกแต่งด้วยของเก่าแก่ล้ำค่าอย่าง นาฬิกา เขากวาง และเรือแม่ย่านางอายุกว่าร้อยปี ด้านหลังตัวบ้านมีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด

รูปแบบของบ้านโบราณแห่งนี้ ภูสิต อินทรทูต แอดมินเพจเฟซบุ๊ก รัตนโกสิเนหา อธิบายกับโพสต์ทูเดย์ว่าได้รับอิทธิพลจากงานสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียนโดยตรง สังเกตได้จาก “ไม้กลึงยอดจั่ว” ซึ่งในประเทศไทยและอาจรวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนได้รับอิทธิพลและมีต้นตอมาจากชาวตะวันตกในยุควิคตอเรียน คาดว่าผู้ที่สามารถสร้างบ้านลักษณะนี้ได้ในสมัยนั้น หากไม่ใช่ขุนนางก็ต้องมีฐานะพอสมควร ต้องเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป

“รูปแบบสถาปัตยกรรมยุควิคตอเรียนมาพร้อมกับชาวตะวันตก ที่เข้ามาสร้างเรือนอาคารของตนในสยาม ได้รับความนิยมในช่วงรัชกาลที่ 4 เรื่อยมา มีแรงผลักสำคัญเมื่อสยามถูกคุกคามจากการล่าอาณานิคม รวมถึงการเมืองการปกครองเริ่มปรับปรุงไปสู่สากลและความศิวิไลซ์มากขึ้นจนเบ่งบานสะพรั่งสูงสุดใน รัชกาลที่ 6 ลักษณะของบ้านไทย-วิคตอเรียนที่บานสะพรั่งสูงสุด ดูได้จากงานในจังหวัดแพร่ ก่อนจะเริ่มคลายความนิยมไปช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บ้านโบราณ คือ โบราณสถานอย่างหนึ่ง ถือเป็นตำราในการศึกษาสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วิทยาการในยุคนั้นๆ ได้”  แอดมินเพจเฟซบุ๊ก รัตนโกสิเนหากล่าว 

ย้อนรอยขุมทรัพย์กลางกรุง บ้านไม้สักทองอายุ 150 ปี ที่เจ้าของพร้อมขายในราคา 300 ล้าน

อ่านเรื่อง "100 ล้านก็ไม่ขาย ไม่อยากทำลายน้ำใจบรรพบุรุษ" เปิดใจแม่ชีกรรณิการ์ เจ้าของบ้านเก่าร้อยปีกลางกรุง ที่  http://www.posttoday.com/local/scoop_bkk/436589

ย้อนรอยขุมทรัพย์กลางกรุง บ้านไม้สักทองอายุ 150 ปี ที่เจ้าของพร้อมขายในราคา 300 ล้าน

 

 

ย้อนรอยขุมทรัพย์กลางกรุง บ้านไม้สักทองอายุ 150 ปี ที่เจ้าของพร้อมขายในราคา 300 ล้าน

 

 

ย้อนรอยขุมทรัพย์กลางกรุง บ้านไม้สักทองอายุ 150 ปี ที่เจ้าของพร้อมขายในราคา 300 ล้าน