posttoday

รพ.ปทุมฯ แจงลูก "ยอดรัก เพชรสุพรรณ" มีอาการผิดปกติหลังคลอด ขอรอผลชันสูตรก่อน

19 กันยายน 2560

โรงพยาบาลปทุมธานี แจงลูกสาว ยอดรัก เพชรสุพรรณ มีอาการผิดปกติหลังคลอด แพทย์ช่วยเต็มแต่ไม่สำเร็จ ขอรอผลชันสูตรก่อน

โรงพยาบาลปทุมธานี แจงลูกสาว ยอดรัก เพชรสุพรรณ มีอาการผิดปกติหลังคลอด แพทย์ช่วยเต็มแต่ไม่สำเร็จ ขอรอผลชันสูตรก่อน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. คณะแพทย์โรงพยาบาลปทุมธานี ชี้แจงกรณีที่ ยอดรัก เพชรสุพรรณ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวอ้างว่า สาเหตุที่ทำให้ต้องสูญเสียลูกสาวหลังคลอดเพียงแค่ 40 นาที เพราะทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลปล่อยปละละเลยไม่ดูแลทันท่วงทีนั้น

นพ.มณเฑียร เพ็งสมบัติ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี เปิดเผยว่า คุณแม่เด็ก ภรรยาของคุณยอดรัก ได้เข้ามาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลตอนอายุ 41 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลังผู้ป่วยย้ายจากโรงพยาบาลเอกชน มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลก็ดูแลดีมาตั้งแต่แรก เพราะภรรยาของคุณยอดรัก อายุเกิน 35 ปี จึงมีโอกาสที่เด็กในท้องจะมีโครโมโซม สมอง หัวใจ รูปร่างหน้าตาการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ

โดยหลังคลอดก็พบว่าเด็กมีอาการผิดปกติ ลักษณะตัวเขียว หน้าตาของเด็กผิดปกติ หัวใจเต้นอย่างช้าๆ ทางแพทย์จึงช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (ซีพีอาร์) ประมาณ 40 นาที หลังจากนั้นจึงส่งร่างเด็กไปตรวจโครโมโซม และผ่าชันสูตรที่ นิติเวชโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจ

นพ.บุญรักษ์ วิริยโชค หัวหน้ากลุ่มงานสูตินารีเวช กล่าวว่า ผู้ป่วยก่อนย้ายมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล ได้ฝากท้องที่คลินิกเอกชนในต่างจังหวัด ก่อนคลอดจากการตรวจด้วยเครื่องตรวจอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ จากกราฟตรวจคลื่นหัวใจทารก พบว่าลักษณะการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 120 - 160 นาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงได้ให้ผู้ป่วยนอนพักในห้องคลอดและมีการดูแลผู้ป่วยเป็นระยะ จนกระทั่งผู้ป่วยมีอาการเจ็บครรภ์มากช่วงเวลา 05.00 น. ตอนนั้นคลื่นหัวใจเด็กเต้นช้าลงบางช่วงมีอัตราการเต้นต่ำ แพทย์จึงให้ออกซิเจนให้น้ำเกลือ

ขณะทีี่ปากมดลูกตอนนั้นเปิด 9 เซนติเมตรแล้ว เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว พบว่ามีสภาวะและโครโมโซมผิดปกติ มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยที่ 1,830 กรัม ต่างจากเด็กปกติที่ครบกำหนดคลอดทั่วไปเมื่อที่อายุครรภ์เกิน 37 สัปดาห์ ต้องมีน้ำหนักอยู่ประมาณ 2,500 กรัมขึ้นไป ซึ่งลักษณะนี้บ่งบอกว่าอาจจะมีลักษณะของโครโมโซมที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุอย่างหนึ่งทำให้เด็กเสียชีวิตหลังคลอด แต่ถึงอย่างไรต้องรอผลพิสูจน์ยืนยันว่า เด็กเสียชีวิตเพราะมีโครโมโซมผิดปกติหรือไม่

นางพรทิพย์ คนึงบุตร หัวหน้าห้องคลอง กล่าวว่า ช่วงแรกที่คนไข้นอนโรงพยาบาลยังไม่มีอาการเจ็บท้องและปากมดลูกยังไม่เปิด ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ได้ดูแลและติดตามตรวจบันทึกผลทุกระยะ และจากอัตราการเต้นของหัวใจเด็กทุก 2 ชั่วโมง ของเวรดึกคืนนั้น ก็ดูแลตลอดเป็นระยะ แม้ช่วงเวลา 01.00 น. ปากมดลูกก็ยังไม่ขยายเพิ่ม แม้เวลา  04.00 น. คลื่นหัวใจก็ยังปกติ

จนถึงช่วงเวลา 06.00 น. พบว่าคนไข้มีอาการใกล้คลอดปากมดลูกเปิดมาก จึงนำเข้าห้องคลอด ซึ่งขณะที่คนไข้เบ่งคลอด พบหัวใจของเด็กทารกผิดปกติ คือคลื่นหัวใจได้ต่ำลง จึงรีบแก้ไขโดยให้ออกซิเจนน้ำเกลือและทำคลอด เมื่อคลอดออกมาแล้วหัวใจเด็กเต้นช้าลง หลังจากนั้นก็พยาบาลพยายามช่วยกู้ชีวิตโดยกุมารแพทย์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 40 นาที จนกระทั่งเด็กเสียชีวิต