posttoday

ทส.เตรียมหารือผู้ผลิตยาหอมปรับสูตรสมุนไพรหลังถูกห้ามนำเข้าเนเธอร์แลนด์

13 กันยายน 2560

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเตรียมเรียกผู้ประกอบการยาหอมชื่อดังหารือ ปรับสูตรสมุนไพร ปลดล็อคหลังถูกนำเข้าเนเธอร์แลนด์

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเตรียมเรียกผู้ประกอบการยาหอมชื่อดังหารือ ปรับสูตรสมุนไพร ปลดล็อคหลังถูกนำเข้าเนเธอร์แลนด์

เมื่อวันที่ 13 ก.ย. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เตรียมเรียกผู้ประกอบการยาหอมชื่อดังยี่ห้อหนึ่งของไทยเข้าพูดคุย หาข้อเท็จจริง กรณีที่ยาหอมดังกล่าวถูกห้าม ไม่สามารถพกพา นำเข้าประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ เนื่องจากมีส่วนผสมที่เป็นไม้กฤษฎา และสมุนไพรจีน โกฐกระดูก หรือ มู่เชียง ซึ่งเป็นพืชป่าตามอนุสัญญาไซเตส

อย่างไรก็ตาม  ยังไม่อยากฟันธงว่าผู้ประกอบการผิด แต่หากพบมีพืชป่าในบัญชีไซเตสผสมอยู่จริง คงต้องพูดคุยให้มีการปรับปรุงส่วนผสม เนื่องจากเป็นข้อห้าม หรืออีกหนึ่งวิธีคือผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการขอใบอนุญาตนำออกจากประเทศไทยจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ประเทศปลายทางอนุญาตให้เข้าประเทศได้อย่างถูกต้องตามระเบียบไซเตส

น.ส.ดวงเดือน ศรีโพทา ผู้อำนวยการ กลุ่มวิจัยอนุสัญญาไซเตสด้านพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ยาหอมยี่ห้อดังกล่าวมียาสมุนไพรและยาจีน เป็นส่วนผสมของพืชต้องห้ามรวมอยู่ด้วย 2 ชนิด คือ โกฐกระดูก หรือ มู่เชียง ซึ่งมีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน และเป็นพืชอนุรักษ์ตามบัญชีแนบท้าย 1 ของอนุสัญญาไซเตส ซึ่งห้ามมีการซื้อขายโดยเด็ดขาด แต่หากจะมีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ หรือนำเข้าไปในต่างประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกไซเตส จะต้องขอใบอนุญาตส่งออกจากกรมวิชาการเกษตรก่อน เพื่อประเทศปลายทางจะอนุญาตให้นำเข้าประเทศได้ ไม่ว่าจะมีปริมาณเท่าใดก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการยาหอมยี่ห้อดังจะต้องมาขออนุญาตตามระเบียบของอนุสัญญาไซเตสก่อน

ทั้งนี้ กรณีไม้กฤษณา ซึ่งก่อนหน้านี้ มีความเข้าใจผิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ยาหอมยี่ห้อดังถูกห้ามเข้าประเทศเนเธอร์แลนด์นั้น ไม่ได้ถูกควบคุมโดยบัญชีไซเตสแล้ว แม้จะถูกขึ้นทะเบียนเป็นพืชอนุรักษ์บัญชี 2 แต่ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้ยกเว้นให้นำเข้าและส่งออกได้

ขณะที่ โกฐกระดูก หรือ มู่เชียง อยู่ในบัญชีแนบท้ายที่ 1 เป็นพืชชนิดพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะที่เก็บมาจากป่า ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย หรือได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือ ขยายพันธุ์เทียม เท่านั้น การค้าระหว่างประเทศจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ ด้วย