posttoday

เปิดข้อมูลใบมรณบัตร คนไทยเสียชีวิตบนถนนปีละ1.5หมื่น

29 มิถุนายน 2560

สสส.ผนึกภาคี รณรงค์ต้านพฤติกรรม "ดื่มแล้วขับ" เปิดข้อมูลใบมรณบัตร คนไทยเสียชีวิตบทท้องถนน1.5 หมื่นคนต่อปี พบ1ใน4มีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง

สสส.ผนึกภาคี รณรงค์ต้านพฤติกรรม "ดื่มแล้วขับ" เปิดข้อมูลใบมรณบัตร คนไทยเสียชีวิตบทท้องถนน1.5 หมื่นคนต่อปี พบ1ใน4มีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่เกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อเวลา10.00น. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)จัดเวทีถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ของผู้ก่อเหตุและผู้ได้รับผลกระทบ ในเวทีเสวนาหัวข้อ“โศกนาฏกรรมดื่มแล้วขับ ถอดบทเรียนสองฝ่าย(ผู้ก่อเหตุ–ผู้สูญเสีย)...ปัญหาและทางออก" ทั้งนี้ มีการเดินรณรงค์และแจกสื่อประชาสัมพันธ์ ต่อต้านพฤติกรรมดื่มแล้วขับบริเวณป้ายรถเมล์อนุสาวรีย์ฯ

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ข้อมูลใบมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนนมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือประมาณ15,000 รายต่อปี ในส่วนนี้มีแอลกอฮอล์เข้าไปเกี่ยวข้องสูงถึง1ใน4 หรือ20-25% ขณะที่ยอดการเสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ย40รายต่อวัน 1ใน4 มีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหยื่อถูกคนเมาขับรถชน สะท้อนจากข่าวที่ได้เก็บรวบรวมในรอบ3ปี พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องกลายเป็นเหยื่อเมาแล้วขับกว่า49ราย นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สาเหตุเมาแล้วขับเพิ่มมากขึ้นจากเดิม34%เพิ่มเป็น43%เสียชีวิต32%จากเดิม17% ที่น่าห่วงคือมีเด็กอายุต่ำกว่า20ปีบาดเจ็บเข้ารับการรักษา1,674ราย หรือวันละ239ราย ชี้ให้เห็นว่า  แอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยร่วมทำให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปีบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งที่มีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 ซึ่งห้ามขายให้เด็กต่ำกว่า20ปี

"สิ่งที่เป็นปัญหาคือมาตรการตรวจจับยังมีข้อจำกัด รวมถึงการดำเนินคดียังมีช่องว่าง เช่นโทษจำคุกแล้วรอลงอาญา อีกทั้งทัศนคติของคนไทยยังมองว่าดื่มแล้วขับเป็นเรื่องปกติ ที่น่าห่วงที่สุดคือ ปัจจุบันมีการสร้างเครื่องมือเช็คจุดเพื่อหลีกเลี่ยงจุดตั้งด่าน หรือการต่อรอง การถ่วงเวลา เพื่อไม่ให้ถูกจับดำเนินคดี  แนวทางคือ ต้องมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้น เร่งปรับปรุงระบบความผิด มีมาตรการทางสังคมเพื่อจะได้ไม่กล้าทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก รวมถึงกำหนดการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งบนถนน และขณะเกิดอุบัติเหตุ ส่วนมาตรการระยะยาว เมื่อเมาแล้วขับต้องไม่ใช่เรื่องประมาท แต่ควรถือว่าอันตรายและมีบทลงโทษที่รุนแรง ต้องไม่รอลงอาญา เช่น ประเทศญี่ปุ่นมีโทษจำคุก20ปี" นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

นายวิชาญ  นายสอง อายุ59ปี ชาวจังหวัดเพชรบุรี อาชีพรับเหมาก่อสร้าง กล่าวถึงบทเรียนชีวิตที่เคยก่อเหตุดื่มแล้วขับ ว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อ7ปีที่แล้ว คือ ตนเองดื่มสุราแล้วขับรถชน ด.ต.อนุศักดิ์ ขมิ้นทอง ผู้บังคับการหมู่ สถานีตำรวจทางหลวง1กองกำกับการ1ขณะปฏิบัติหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บขาซ้ายขาด กระทั่งถูกตำรวจดำเนินคดีขอหา เมาแล้วขับและขับรถโดยประมาท จำคุก2ปี รอลงอาญา ปรับหมื่นกว่าบาท และได้เสียค่ารักษาพยาบาลพร้อมชดเชยค่าเสียหายรวมแล้วกว่า 2 ล้านบาท ตอนนั้นผมไม่คิดหนี หรือคิดต่อสู้ในทางคดีอะไรเลย  ยอมรับสภาพทุกอย่างไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเพราะเราผิดมาก

“จริงๆคนที่ควรเจ็บต้องโดนตัดขาควรเป็นผม เพราะผมเป็นผู้กระทำ ผมเมาแล้วขับ ผมประมาทเอง ช่วงที่ไปเยี่ยมและเห็นสภาพพี่เขาที่โรงพยาบาล ผมรู้สึกผิดและเสียใจมาจนถึงทุกวันนี้  ไม่คิดว่าการดื่มแล้วขับจะส่งผลกระทบกับคนอื่นและครอบครัวรุนแรงขนาดนี้ ลูกเขาก็ยังเรียน ลูกผม2คนก็ยังเรียน เงินทองที่มีต้องหมดไป หนี้สินภาระต้องเพิ่มขึ้น ต้องกู้เงินนอกระบบ เป็นช่วงที่ลำบากและขัดสนที่สุดในชีวิต หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ดื่มแล้วขับเด็ดขาด ถือเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับชีวิต อยากฝากเพื่อเป็นบทเรียนเตือนสติไปยังผู้ที่ดื่มแล้วขับ ขอให้เลิกคิดว่าไม่เมายังขับไหว เพราะมันจะสร้างความความสูญเสียให้ผู้อื่นและตัวเอง คนในครอบครัว อีกทั้งขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเด็ดขาด ส่วนตัวเชื่อว่ากฎหมายต้องแรงกว่านี้และจับจริง ติดคุกจริงถึงจะเอาอยู่"นายวิชาญ กล่าว

ขณะที่ ด.ต.อนุศักดิ์  ขมิ้นทอง ผู้บังคับการหมู่ สถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ1ในฐานะเหยื่อผู้สูญเสีย พิการขาซ้ายขาดจากคนดื่มแล้วขับ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น ชีวิตเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ ต้องถูกตัดขาซ้ายใส่ขาเทียม ส่วนขาขวาใช้เหล็กดามไว้ ส่วนภรรยาต้องออกไปค้าขายเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัว ซึ่งตนยังโชคดีที่หน่วยงานในสังกัดให้โอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม แม้ไม่ได้ไปอยู่ฝ่ายจราจร แต่จะมีหน้าที่ดูแลงานด้านเอกสารต่างๆ แต่ก็มีอุปสรรคเพราะเคลื่อนไหวช้า แต่ยังดีที่เพื่อนร่วมงานคอยช่วยเหลือในทุกๆด้าน

“สภาพจิตใจค่อยๆดีขึ้นเพราะได้กำลังใจจากครอบครัว คอยปลอบคอยดูแลไม่ทิ้งไปไหน แต่ก็ไม่เคยลืมเหตุการณ์นั้นได้ ถ้าไม่พิการคงช่วยเหลืองานด้านจราจรได้มากกว่านี้ อยากฝากถึงผู้ขับขี่บนท้องถนน ให้ตรวจสอบสภาพตัวเอง สภาพรถยนต์ วางแผนการเดินทาง ที่สำคัญดื่มไม่ขับ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเสียหายต่อตัวเองและผู้อื่น ขอให้คิดถึงผลที่จะตามมาใจเขาใจเราด้วย”ด.ต.อนุศักดิ์ กล่าว