posttoday

"บิ๊กบี้"พร้อมร่วมมือนานาชาติ ผลักดันแรงงาน-ศก.สีเขียว

14 มิถุนายน 2560

รมว.แรงงานพร้อมร่วมมือนานาชาติ ผลักดันแรงงาน-เศรษฐกิจสีเขียว

รมว.แรงงานพร้อมร่วมมือนานาชาติ ผลักดันแรงงาน-เศรษฐกิจสีเขียว

เมื่อวันที่่่ 14 มิ.ย. พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ขึ้นกล่าวในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี องค์การแรงงานระหว่างประเทศ สมัยที่ 106 ว่า ต้องขอชื่นชมในความสำเร็จ และความพยายามอย่างต่อเนื่องของผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ International Labour Organization (ILO) ที่มุ่งเน้นสู่ข้อริเริ่มสีเขียวของแรงงาน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามวาระงานให้มีคุณค่า และแรงงานสามารถต่อสู้กับสภาวอากาศที่เปลียนแปลง

ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ILO ในการทำให้ข้อริเริ่มนี้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะการส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน ความยุติธรรมทางสังคมและในขณะเดียวกัน เพื่อปกป้องโลกของเราไว้ให้ประชากรรุ่นต่อไป

"ประชาคมโลกเห็นพ้องต้องกันว่าเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและความตกลงปารีส รวมถึงการผลิตและเทคโนโลยีที่สะอาด ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว” รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าว 

พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า ยังเห็นด้วยกับความตกลงร่วมกันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องร่วมมือกับองค์กรนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อเป็นการรับประกันว่าการเปลี่ยนผ่านสีเขียวได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวเป็นได้ทั้งโอกาสและความท้าทายในโลกของงาน ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า งานสีเขียว ไม่ได้เป็นงานที่มีคุณค่าด้วยตัวของมันเอง แต่ต้องเกิดจากการออกแบบให้เป็น และผู้ที่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงและก้าวไปข้างหน้าได้ ถึงจะได้รับประโยชน์

"การเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นปัญหาของประชาคมโลก ไม่มีประเทศใดหรือผู้ใดสามารถแก้ปัญหานี้ได้เพียงลำพัง ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบในการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านที่ยุติธรรมที่ทุกประเทศจะได้รับประโยชน์” พล.อ.ศิริชัย กล่าว 

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยน้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาเป็นหลักในการบริหารประเทศและบูรณาการอยู่ในแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาว หลักการดังกล่าวเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ยั่งยืน และมุ่งเน้นการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบมุ่งหวังแต่ผลประโยชน์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทางสายกลางและมีความยืดหยุ่น ทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง