posttoday

ธรรมศาสตร์จัดเสวนาแก้ผังเมืองลดเหลื่อมล้ำ

06 พฤษภาคม 2560

เอกชนและภาครัฐร่วมเสวนาเรื่องผังเมืองของประเทศ เพื่อพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาประเทศ ให้ไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

เอกชนและภาครัฐร่วมเสวนาเรื่องผังเมืองของประเทศ เพื่อพัฒนาลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาประเทศ ให้ไทยก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดเสวนา "มองเมืองต่างมุม มองมุมต่างเมือง" ตามแนวคิดที่ว่าการพัฒนาเมืองเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นเรื่องการวางผังเมืองเพื่อให้เกิดความผลักดันเศรษฐกิจและขจัดความเหลื่อมล้ำของสังคม และเป็นการมองหาจุดเด่นและจุดด้อยเพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศ

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กล่าวถึงปัญหาของประเทศไทยในเรื่องของโครงสร้างผังเมืองว่า ประเทศไทยอยู่ในจุดวิกฤติของการพัฒนา เพราะประเทศไทยอยู่ในรูปแบบของคนเข้ากับเมือง โครงสร้างของเมืองไม่ได้มีการวางแผนไว้ อีกทั้งในสังคมปัจจุบันคนมีความต้องการมากขึ้น เมืองที่ไม่เป็นระบบจะทำให้เกิดปัญหา

นายคณิศกล่าวต่อว่า การจัดการของประเทศไทยควรเป็นการจัดวางรูปแบบเมืองอย่างเป็นระบบ การวางผังเมืองไม่ใช่การพัฒนาเมือง การพัฒนาเมืองควรเป็นการทำเพื่อพัฒนารูปแบบผังเมืองที่ได้วางไว้ การพัฒนาจึงควรใช้เทคโนโลยีที่เข้ากับประเทศไม่ใช่เพียงการนำความคิดของประเทศอื่นๆมาใช้งาน แต่ต้องเป็นความคิดที่พัฒนาโดยมีผังเมืองของประเทศเป็นจุดยืน

นายอธิป พีชานนท์ กรรมการปฏิรูปด้านการผังเมืองและการใช้พื้นที่ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า การวางผังเมืองของภาคเอกชนถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ แต่ในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภาคเอกชนเป็นตัวหลักสำคัญ เนื่องจากปัญหาที่มีการสะสมมานาน บุคลากรในด้านนี้มีจำนวนจำกัด การให้ความรู้แก่ประชาชนมีน้อย การทำผังเมืองจึงไปรวมอยู่ที่กลุ่มคนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ประเทศไทยเติบโตมาด้วยความคิดว่านโยบายเป็นตัวนำไม่ได้ใช้กายภาพเป็นตัวนำ การวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินกับการวางผังเมืองไม่มีการใช้ประโยชน์ในการบูรณาการเข้าด้วยกัน

นายอธิปกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยสร้างผังเมืองที่ผิดลักษณะประเทศ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา กรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองหลวงของไทยมีกลุ่มหน่วยงานที่สำคัญอยู่ในพื้นที่เดียวมากเกินไป การกระจายตัวตามแต่ละพื้นที่จึงเป็นส่วนสำคัญเพื่อทำให้เกิดการกระจายไปในแต่ละจังหวัดเพื่อให้แต่ละเมืองสามารถพัฒนาเองได้ และควรมีการปลูปฝังความรู้ด้านผังเมืองให้แก่เยาวชนและประชาชนเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของโครงสร้างผังเมือง

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า เมืองเป็นส่วนที่มีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจประเทศ การลดความเหลื่อมล้ำก็เป็นส่วนสำคัญ การกระจายอำนาจสู่เมืองต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ และในสังคมปัจจุบันรูปแบบการคมนาคมเปลี่ยนไปความสามารถในการแข่งขันระหว่างจังหวัดจึงหายไป

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความรู้สึกผูกพันในแผ่นดินเกิด ถือเป็นวิธีเสริมสร้างการให้ความร่วมมือของคนในเมืองหรือในตังหวัดนั้นๆ เนื่องจากการให้คนในท้องที่เป็นผู้ดูแลจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกร่วมด้วยไม่ใช่เพียงแค่ความรู้สึกที่คิดว่ารัฐบาลจะเป็นหน่วยงานที่เข้ามาจัดการดูแลเท่านั้น

ดร. อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้อำนวยการวิทยาลัยพัฒนาการปกครองท้องถิ่นสถาบันพระปกเกล้า และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็นการพัฒนาเมืองสู่ไทยแลนด์ 4.0 ไว้ว่า เมืองเป็นประเด็นที่สำคัญ เมืองหลวงอาจไม่ใช่เมืองทางเศรษฐกิจก็ได้ เอเชียมีปัญหาเรื่องการพัฒนาเมือง เพราะทางแถบเอเชียมีการจัดรูปแบบเมืองที่เป็นการรวมส่วนสำคัญไว้ที่เดียวไม่มีการกระจายอำนาจไปสู่เมืองอื่นๆ ประเทศไทยยังเข้าใจว่า กรุงเทพคือส่วนสำคัญของไทย ควรให้ประเทศไทยมีการพัฒนาส่วนท้องถิ่นไปพร้อมๆกัน การพัฒนา 4.0 จึงควรกระจายตัวทั่วทุกพื้นที่ ประเทศไทยยังคงคิดว่าตัวเองเป็นประเทศเกษตรกรรมแต่ในรูปแบบบริบทสังคมปัจจุบัน ประเทศไทยเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองจึงควรหาวิธีคุมระเบียบของประเทศ

ดร. อรทัยกล่าวทิ้งท้ายว่า การขยายเมืองในทุกจังหวัดนายกของจังหวัดนั้นๆ ไม่สามารถทำได้ แต่ควรมุ่งเน้นกระจายอำนาจโดยให้คนที่รู้จักเมืองที่สุดเป็นผู้ดูแลก็คือ ประชาชนในท้องถิ่นเหล่านั้น  รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรู้จักพัฒนาศักยภาพที่เป็นจุนเด่นของแต่ละเมือง เพราะจะทำให้เกิดความรักในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่คนในเมืองสามารถนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาพัฒนา