posttoday

สถิติคนแก่อยู่ตามลำพังพุ่ง

14 เมษายน 2559

สบส.เผยสถิติคนชราอยู่ตามลำพังพุ่งกว่า 8 แสนราย ขณะที่ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย

สบส.เผยสถิติคนชราอยู่ตามลำพังพุ่งกว่า 8 แสนราย ขณะที่ผู้สูงอายุป่วยติดเตียงเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 พบว่าประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 15% ของประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่อยู่บ้านตามลำพังถึงกว่า 8 แสนราย หรือ 8.7% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

นพ.บุญเรือง กล่าวว่า จำนวนผู้สูงอายุที่ต้องอยู่บ้านตามลำพังเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ในรอบ 20 ปี โดยสาเหตุหลักคือ โสด ไม่มีลูกหลาน คู่สมรสเสียชีวิตก่อน ลูกหลานอยู่ต่างถิ่น นั่นส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องประสบปัญหาในยามเจ็บป่วย

นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า จากผลการตรวจคัดกรองสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปี 2558 ในผู้สูงอายุ 6 ล้านคน พบว่ามีถึง 1.3 ล้านคน ที่อยู่ในสภาพติดบ้านและอยู่ในสภาพหง่อม คือนอนติดเตียง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องพึ่งพิงคนช่วยดูแล

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายในเดือน เม.ย.นี้ กระทรวงแรงงานจะดำเนินโครงการ Brain Bank เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลตำแหน่งงานที่มีความต้องการจ้างผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปี และรวบรวมข้อมูลของผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานเพื่อให้นายจ้างเข้าถึงข้อมูล

ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานจะนำข้อเสนอจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เรื่องการเพิ่มอายุเกษียณไปอยู่ที่ 65 ปี หรือปรับอัตราเงินสมทบกรณีชราภาพและปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณไปศึกษา เนื่องจากปัจจุบันไทยเก็บเงินสมทบน้อย แต่มีรายจ่ายเงินสมทบกรณีบำเหน็จและบำนาญมาก คาดว่าใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งความปรารถนาดีและความห่วงใยไปยังผู้สูงอายุทั่วประเทศ และอยากให้ลูกหลานตรวจสอบว่าปู่ย่าตายายในบ้านได้รับสิทธิสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุครบถ้วนแล้วหรือไม่ พร้อมทั้งเร่งรัดให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โอนเบี้ยยังชีพผ่านธนาคาร เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกไม่ต้องให้ผู้สูงอายุเดินทางไปรับด้วยตัวเอง

สำหรับเบี้ยยังชีพรายเดือน ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดอัตราแบบขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ 600-1,000 บาท ตามช่วงอายุ โดยในปี 2559 มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิทั้งสิ้น 7,996,332 ราย ขณะที่รัฐจัดสรรงบประมาณไว้ 63,098.55 ล้านบาท โดยรัฐบาลยังพบว่ามีผู้สูงอายุที่ยังไม่อยู่ในระบบหรือยังไม่ได้ลงทะเบียนอีกประมาณ 2 ล้านราย ทั่วประเทศ