posttoday

ไฟฟ้ากับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

31 สิงหาคม 2556

ณ เวลานี้ ไฟฟ้าได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยของการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่อยู่ใน Generation Y ซึ่งเกิดและเติบโตมาพร้อมกับวิทยาการ

ณ เวลานี้ ไฟฟ้าได้กลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยของการดำรงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่อยู่ใน Generation Y ซึ่งเกิดและเติบโตมาพร้อมกับวิทยาการ เทคโนโลยีและระบบการสื่อสารต่างๆ ซึ่งต้องพึ่งพาการทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ดังนั้น โลกในยุคปัจจุบันจึงแข่งขันกันด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการจะได้มาของพลังงานไฟฟ้านั้น ก็ต้องมีแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการจากภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ

การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจได้นั้น การอาศัยปัจจัยภายในประเทศ เช่น ทรัพยากรทางธรรมชาติ การวางแผนนโยบายทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์คงอาจไม่เพียงพอในการแข่งขัน นั่นจึงเป็นที่มาของการผนึกกำลังร่วมกันของกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลกนี้ ดังเช่นการรวมตัวของประชาคมอาเซียนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาหลักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อย่อว่า AEC

ถึงแม้ว่าในวันนี้เราอาจจะยังไม่รู้ว่าการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง แต่การประเมินและวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็อาจจะทำให้มองเห็นอนาคตได้ไม่มากก็น้อย ดังเช่นสถานการณ์ในวันนี้ที่หลายๆ ประเทศในอาเซียน ได้ส่งสัญญาณในการปรับเปลี่ยนประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว เช่น พม่า ลาว และกัมพูชา ที่หันมาให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและเพิ่มบทบาทให้มากขึ้นในเวทีอาเซียน ดังนั้น การผลิตไฟฟ้าในประเทศเหล่านั้น ไม่เพียงจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย ดังนั้น วงการพลังงานไฟฟ้าในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจึงต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง วางแผนและร่วมมือกันเพื่อให้ทันกับความต้องการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นกับทีมงานโลก 360 องศาว่า แท้จริงแล้วนั้น 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มีการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความร่วมมือมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการผลิตไฟฟ้า การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและระบบสายส่ง รวมถึงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งเมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาถึงในปี 2558 นั้น ความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าจะปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งลาวและพม่ามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนถูกที่สุด รวมไปถึงการซื้อขายแบ่งปันกระแสไฟฟ้าระหว่างกันในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าต่ำสุดและสูงสุด เพื่อก่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุดจากปริมาณไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบ จึงเป็นที่มาของโครงการ ASEAN Power Grid ซึ่งคาดการณ์กันว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้ไฟฟ้ามีราคาถูกลง แต่อย่างไรก็ตาม คุณสุนชัยมีความเห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ประเทศที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถูกที่สุดก็ย่อมที่จะได้เปรียบที่สุด เพราะ AEC เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเวียดนามคือประเทศที่มีค่าไฟฟ้าถูกที่สุด รองลงมาคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือถ่านหินและพลังน้ำ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าปริมาณก๊าซธรรมชาติจากแหล่งสำรองในประเทศก็จะหมดลง รวมไปถึงพม่ามีแนวโน้มจะไม่ส่งออกก๊าซธรรมชาติมายังไทย เพราะต้องเก็บไว้เพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจึงมุ่งเน้นการพึ่งพาพลังงานในประเทศให้มากที่สุด และให้ความสำคัญกับการหาพลังงานทดแทน เช่น ถ่านหินทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตไฟฟ้าต่ำที่สุด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน รวมถึงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมในอนาคต นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลมและเชื้อเพลิงชีวมวล ให้มีกำลังการผลิตรวมแล้วไม่น้อยกว่า 13,000 MW แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมที่จะมองและวิเคราะห์เพื่อนบ้านที่กำลังเร่งพัฒนาการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตามหลังจนทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

Mr.Ulrich Zachau World Bank’s Country Director, Southeast AsiaEast Asia and Pacific ให้ความเห็นกับทีมงานโลก 360 องศาได้อย่างน่าสนใจว่า ธนาคารโลกประเมินว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฮับของอาเซียน ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบเมื่อ AEC มาถึง ดังจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังคงตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย แม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤตอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เพราะทำเลที่ตั้งของประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านการขนส่งและกระจายสินค้า ซึ่งนั่นจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยในระยะยาว ไม่จำกัดแค่เพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต โดยธนาคารโลกมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เช่น การให้กู้ยืมเงินเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง เป็นต้น เพราะเล็งเห็นว่าไฟฟ้าคือส่วนสำคัญที่สนับสนุนความสำเร็จของเศรษฐกิจไทย มากไปกว่านั้นยังทำให้วันนี้ ภาคครัวเรือนไทยมีไฟฟ้าใช้มากถึงร้อยละ 99 แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันว่าอนาคตประเทศไทยจะไม่เผชิญกับวิกฤตไฟฟ้า เพราะนับตั้งแต่ปี 2492 เมื่อประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกธนาคารโลกได้มีการสนับสนุนประเทศไทย 2 ด้าน คือการพัฒนาเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องและการให้เงินกู้ยืมเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี แม้จะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็ยังสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ธนาคารโลกจึงเล็งเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ศักยภาพที่มีนั้นจะไม่สะดุดลงเสียก่อน เนื่องจากปัญหาทางด้านพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โลกยุคปัจจุบันนี้การขาดแคลนไฟฟ้า ย่อมสะท้อนถึงความไม่พัฒนา เพราะความก้าวหน้าทางสังคมและเศรษฐกิจ ย่อมต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น กรอบความร่วมมือของ AEC จึงไม่จำกัดเพียงเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การที่จะสร้างความเข้มแข็งได้ก็จะต้องเพิ่มความร่วมมือทางด้านพลังงานไฟฟ้าเข้าไปอีกด้วย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจอาเซียนให้ก้าวขึ้นมามีอำนาจในระดับโลก ดังเช่นที่ชาติสมาชิกทุกชาติตั้งปณิธานร่วมกันไว้

การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น จะสร้างโอกาสให้กับหลายประเทศและในขณะเดียวกันก็อาจสร้างอุปสรรคให้กับหลายประเทศด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า ดังนั้น การเตรียมความพร้อมถือเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการมองให้รอบด้านเพื่อประเมินสถานการณ์ พร้อมกับเตรียมแผนรองรับไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งการเตรียมความพร้อมทางด้านพลังงานไฟฟ้านั้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยได้เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน