posttoday

“ก.วิทย์”เตือนอันตรายดินสอพองสงกรานต์ระวังเชื้อโรค!

09 เมษายน 2556

“วรวัจน์” เตือน อันตรายใช้ดินสอพอง ช่วงสงกรานต์ หลังสุ่มตัวอย่างแหล่งผลิต พบ ปริมาณยีสต์ แบคทีเรีย และเชื้อรา เกินมาตรฐาน ชี้เสี่ยงสารพัดโรค ร้ายแรงที่สุดอาจถึงแก่ชีวิต

“วรวัจน์” เตือน อันตรายใช้ดินสอพอง ช่วงสงกรานต์  หลังสุ่มตัวอย่างแหล่งผลิต พบ ปริมาณยีสต์ แบคทีเรีย และเชื้อรา เกินมาตรฐาน ชี้เสี่ยงสารพัดโรค ร้ายแรงที่สุดอาจถึงแก่ชีวิต

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวแสดงความเป็นห่วงประชาชน ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนจะเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานจนอาจลืมนึกถึงความปลอดภัยในด้านต่างๆ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ  ได้เล็งเห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ต่างๆร่วมกับการเล่นน้ำสงกรานต์ หากใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอาจเกิดอันตรายได้ ล่าสุดทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ทำการวิจัยปริมาณจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคในดินสอพอง โดยการสุ่มเก็บตัวอย่างดินสอพองจำนวน 12 ตัวอย่างจากแหล่งผลิตจำนวน 5 แหล่ง ผลปรากฏว่า ดินสอพองทั้ง 12 ตัวอย่าง มีปริมาณของยีสต์ แบคทีเรีย และเชื้อรา เกินกว่ามาตรฐานที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนดินสอพองแปรรูปกำหนด อีกทั้งยังพบเชื้อที่ก่อให้เกิดบาดทะยัก (Clostridium spp.) หากเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษและกล้ามเนื้อตาย (Staphylococcus aureus) ในกรณีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด กล้ามเนื้อตายเน่า และการติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

จากผลการสุ่มตัวอย่างดังกล่าว สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จึงได้นำเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมาประยุกต์ใช้เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในดินสอพอง ซึ่งโดยทั่วไปได้มีการใช้เทคโนโลยีฉายรังสีในผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร เครื่องเทศ เพื่อลดเชื้อจุลินทรีย์รวมถึงกำจัดเชื้อก่อโรค ผลปรากฏว่า ดินสอพองที่ฉายรังสีแกมมาที่ปริมาณรังสี 8.90-10.40 กิโลเกรย์ มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้เกือบทั้งหมด อาจถึงระดับ การทำไร้เชื้อ (sterilisation)

นายวรวัจน์ กล่าวย้ำว่า ดินสอพองที่ขายในท้องตลาดมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดว่าดินสอพองดังกล่าวผ่านการฉายรังสีมาแล้วหรือไม่  ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และสำหรับผู้ประกอบการก็ขอความร่วมมือในการคำนึงถึงผู้บริโภค หากนำผลิตภัณฑ์ไปผ่านการฆ่าเชื้อโรคถึงแม้อาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็จะทำให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างปลอดภัย