posttoday

อุทยานฯยันไม่ส่งคืน"เจ้าแก้ว"ให้วัดเพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

08 สิงหาคม 2560

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ยันไม่สามารถนำ "เจ้าแก้ว"หมีควายส่งกลับวัดได้ เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เผยอาการซึมเศร้าเป็นเพียงช่วงปรับตัว

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ยันไม่สามารถนำ "เจ้าแก้ว"หมีควายส่งกลับวัดได้ เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เผยอาการซึมเศร้าเป็นเพียงช่วงปรับตัว

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. น.ส.กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยืนยันว่า กรณีที่ในสังคมออนไลน์เรียนร้องให้นำหมีควาย ชื่อแก้ว เดิมถูกเลี้ยงอยู่ภายในสำนักสงฆ์ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ก่อนจะทำร้ายชาวบ้านบาดเจ็บสาหัส และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเคลื่อนย้ายนำมาดูแลรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ กลับไปอยู่วัดที่เดิมนั้น ไม่อาจกระทำได้ เนื่องจาก "แก้ว" (หมีควาย) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และ "แก้ว" เป็นสัตว์ป่าของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว จึงไม่มีข้อระเบียบกฎหมายที่จะมอบสัตว์ป่าคุ้มครองที่ตกเป็นของแผ่นดินให้กับบุคคลใดไปดูแลหรือครอบครอง

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า "แก้ว" มีอาการซึมเศร้า เครียด หลบตัวอยู่ในที่ลับตาคน หรือไม่กินอาหาร  นั้น ถือเป็นพฤติกรรมที่หมีแสดงออกเมื่อมีการย้ายที่อยู่ใหม่ (สภาพแวดล้อมใหม่) ที่แตกต่างจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ คอก/กรงเลี้ยง และคนเลี้ยง ซึ่งบางตัวอาจแสดงอาการดุ ก้าวร้าว โดยหมีมีการปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่แตกต่างกัน บางตัวสามารถปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้เร็ว ในขณะที่บางตัวต้องใช้เวลานานในการปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่
ดังนั้นการรับหมีมาเลี้ยงดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทางเจ้าหน้าที่ในความควบคุมของสัตว์แพทย์ประจำสถานีฯ จะคอยดูแลสังเกตพฤติกรรมของหมี จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีอาหาร น้ำ Enrichment ต่างๆ ให้หมี เช่นในกรณีที่หมีไม่กินอาหารเลย ทางเจ้าหน้าที่จะมีการเสริมความน่ากินของอาหาร ในเรื่องของรสชาติและกลิ่นที่ดึงดูดใจ เช่นการเพิ่มน้ำผึ้งหรือน้ำหวานลงไปในผลไม้ที่จัดเตรียมให้ และนอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะสังเกตพฤติกรรมและดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างความคุ้นเคยและความไว้วางใจจากหมี 
ทั้งนี้จากประสบการณ์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่รับหมีมาเลี้ยงดูแล พบว่าหมีทุกตัวมีสภาพที่เครียดกับการปรับพฤติกรรมในแหล่งที่อยู่ใหม่ ในสภาพแวดล้อมใหม่และพบว่าหมีใช้เวลาในการปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้  โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึง 1 ปี ซึ่งท้ายสุดหมีก็สามารถปรับพฤติกรรมเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ทุกตัว สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสถานีฯได้เป็นอย่างดี