posttoday

คพ.เผยน้ำปนเปื้อนกากส่าทำกระเบนแม่กลองตาย

21 ตุลาคม 2559

กรมควบคุมมลพิษเผยน้ำปนเปื้อนกากส่าโรงงานผลิตเอทานอล ทำกระเบนแม่กลองตาย

กรมควบคุมมลพิษเผยน้ำปนเปื้อนกากส่าโรงงานผลิตเอทานอล ทำกระเบนแม่กลองตาย

นายวิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.)เปิดเผยว่า คพ.พบสาเหตุที่ทำให้ปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองและคลองสาขา จ.สมุทรสงครามตายจำนวนมากแล้ว โดยพบว่า เกิดจากน้ำเสียจากกากส่าของโรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัทราชบุรีเอทานอล จำกัด รั่วไหลปนเปื้อนในน้ำแม่น้ำแม่กลอง ส่งผลให้น้ำมีความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง จนกลายเป็นพิษต่อปลากระเบนเตรียมฟ้องเอาผิดโรงงานฐานทำน้ำปนเปื้อนสารพิษต่อไป

นายวิจารย์กล่าวว่า  บริษัท ราชบุรีเอทานอล จำกัด ได้มีหนังสือชี้แจงถึงประธานกรรมการลุ่มน้ำแม่กลอง กรณีน้ำกากส่าในบ่อสุดท้ายที่ผ่านการบำบัดแล้วของโรงงานรั่วไหลลงน้ำน้ำแม่กลอง เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 เวลา 08.50 น. โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำและวิเคราะห์ผล พบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ในแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ช่วงระหว่างวันที่ 4 - 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ประมาณ 1.0 – 2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งค่าออกซิเจนละลายน้ำดังกล่าวต่ำกว่าช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปี 2558 และพบว่าค่าบีโอดี (BOD) ในแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่เขต จ.สมุทรสงคราม บริเวณตั้งแต่ อ.บางคนทีลงมาจนถึงปากแม่น้ำ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา มีค่าสูงระหว่าง 11 - 28  มิลลิกรัมต่อลิต

ทั้งนี้ คพ.ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า น้ำกากส่าดังกล่าว ยังคงสะสมในแม่น้ำแม่กลอง ช่วงจ. สมุทรสงคราม อย่างน้อยจนถึง วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่า ข้อมูลการทางของน้ำจากแม่น้ำแม่กลองช่วงอ. บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เดินทางมาที่ อ. บางคนที จ.สมุทรสงคราม ใช้เวลาประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่เพราะอิทธิพลของกระแสน้ำขึ้นในวันที่เกิดการรั่วไหล ทำให้มวลน้ำเสียไม่สามารถไหลงสู่ทะเลได้ ประกอบกับน้ำปนเปื้อนกากส่า มีความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำในแม่น้ำทำให้น้ำกากส่าบางส่วนตกสู่ท้องน้ำ

นอกจากนี้ จากความเห็นของ  สพญ.นันทริกา ชันซื่อ ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ระบุว่า ปลากระเบนได้รับสารเคมีที่เป็นพิษต่อระบบไตและระบบเหงือก และยังพบว่าความสามารถในการควบคุมความสมดุลในร่างกายเสียไป คพ.จึงได้ตั้งสมมุติฐานการตายของปลากระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลองว่าเกิดจากระดับความเข้มข้นของแอมโมเนียอิสระสูง ซึ่งเป็นผลจากการรั่วไหลของน้ำกากส่า ทำให้เป็นพิษต่อปลากระเบนราหูและสัตว์น้ำอื่นๆ โดยเฉพาะในช่วงที่มีออกซิเจนละลายน้ำต่ำ หรือสภาวะไร้อากาศใต้ท้องน้ำ

"คพ.ได้ทำการทดลองเพื่อยืนยันสมมุติฐานดังกล่าวด้วยการจำลองสภาพแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วเติมน้ำกากส่าในอัตราส่วน 1:130 แล้วทำการวัดแอมโมเนียอิสระอย่างต่อเนื่องทุก 15 นาที ซึ่งผลการทดลองพบว่า ค่าแอมโมเนียอิสระ มีค่าเริ่มต้น 0.10 มิลลิกรัมต่อลิตร และเพิ่มขึ้นเป็น 1.1  มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อเวลาผ่านไป 46  ชั่วโมง ซึ่งค่าดังกล่าวเกินกว่าค่าความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ ประมาณ 18  เท่า ที่มีผลทำให้ปลาตายเฉียบพลัน สำหรับการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป คพ.จะดำเนินการกล่าวโทษโรงงานที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป"นายวิจารย์กล่าว