posttoday

ดีเอสไอ ชี้ ราไวย์อยู่ก่อนออกเอกสารสิทธิ์

22 เมษายน 2559

นักวิชาการเตือนที่อยู่ชาวเล กำลังถูกรุก - ดีเอสไอชี้ ชาวเลราไวย์อยู่มานานก่อนออกเอกสารสิทธิ์

นักวิชาการเตือนที่อยู่ชาวเล กำลังถูกรุก - ดีเอสไอชี้ ชาวเลราไวย์อยู่มานานก่อนออกเอกสารสิทธิ์

เมื่อวันที่ 22เม.ย.ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) ร่วมกับมูลนิธิฟรีดดริช เนามัน จัดงานเสวนาเรื่อง สิทธิมนุษยชน :ชาวเราหรือชาวเล ต่าวก็คือ ”มนุษย์’ โดยผู้ร่วมเสวนาได้ร่วมกันแชร์ความคิดในเรื่อง “จากวิกฤติชาวเล สู่สังคมแห่งการเกื้อกูล และคดีที่ดินชาวเล ข้อเสนอแนะและทางอออก’

ดร.นฤมล อรุโณทัย อธิบายถึงปัญหาของชาวเลว่า ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยแต่มีอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคนกลุ่มนี้หลายสังคมอาจมองว่ารู้จักแต่ทะเลและล้าหลังกว่าคนทั่วไป แต่ที่จริงคนเหล่านี้รู้จักป่า ชายฝั่ง และมีความคิด วัฒนธรรมและดำเนินชีวิตทีเรียบง่าย ถึงแม้ภาษาจะแตกต่างจากคนกลุ่มอื่นแต่จากการที่พื้นฐานคนกลุ่มนี้กลัวเจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบไม่ค่อยรู้หนังสือ จึงไม่คุ้นเคยกับระเบียบทางราชการจนทำให้ประสบปัญหาอย่างในปัจจุบันซึ่งบางแห่งกำลังต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยกำลังจะพัฒนาไปให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท  ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มชาติพันธ์ชาวเลที่เป็นชนเผ่าดังเดิมในพื้นที่ 5จังหวัดอันดามันมานานกว่า300ปี มี3ชนเผ่า 43ชุมชน จำนวนประชากรกว่า12,000คน อาทิ มอแกน มอแกลน อูรักรา  กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย  เนื่องจากปัญหาการท่องเที่ยวกำลังเข้ามากระทบ เพราะพื้นเหล่านี้ปัจจุบันมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 100% และบางจุดมีมูลค่าหลักร้อยไปถึงพันล้านบาท ดังนั้นส่วนตัวจึงขอเรียกร้องให้ คืน สิทธิที่ดิน คืนสิทธิหาปลาให้ชาวเล

ด้าน พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อธิบายการดำเนินคดีของชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ว่า การที่ประชาชนเข้าไม่ถึงพยานหลักฐานนั้นทำให้ด้อยโอกาส อันนี้คือความยากของคดีเพราะถ้าสามารถหาพยานหลักฐานเชิงลึกก็จะทำให้ศาลเห็นว่าข้อมูลมีน้ำหนัก

ดังนั้น การดำเนินคดีนี้ส่วนตัวจึงพยายามสืบสวนโดยให้ไปน้ำหนักหลักฐานกับ พยานเอกสาร พยานวัตถุ และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตว่ามีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของชาวเลในพื้นที่ดังกล่าวบ้าง ซึ่งจากที่รับฟังชาวเลในพื้นที่เล่าถึงประเพณี ฝังศพใกล้บ้านเพื่อแสดงถึงความผูกพันของชาวเลกับบรรพบุรุษ ที่จะประกอบพิธีฝังศพไว้ใกล้บ้าน โดยจะนำหอยสวยงามเครื่องมือประมงฝังลงไปนั้นมายืนยัน ถึงการอยู่อาศัยของชาวราไวย์ โดยการทำงานด้ประสานกับนักโบราณคดี เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ ที่ลงไปขุดกระดูกของชาวเลในพื้นที่เพื่อนำไปตรวจสอบ ประกอบกับอ้างอิงข้อมูลประวัติศาสตร์จนพบว่า ดีเอ็นเอของกระดูกที่บรรพบุรุษของชาวลาไวย์ที่พบในพื้นที่มีอายุเกินกว่า 60ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวลาไวย์อยู่ในพื้นที่มาก่อนเกิดการพิพาท และการจดแจ้งใบครอบครองที่ดิน (สค1) ซึ่งเริ่มมีเมื่อปี 2498 ที่ออกมาภายหลังจึงยอมรับว่าชาวเลราไวย์อยู่มาก่อนการออกเอกสารสิทธิ์

โดยข้อมูลในชั้นนี้ก็ถือว่าเป็นหลักฐานในระดับหนึ่งแล้วจึงทำให้มองว่ากระบวนการตรวจสอบเอกสารสิทธิภายหลังอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรขั้นตอนการตรวจเรื่องดังกล่าวขณะนี้พยานหลังฐานต่างๆก็นำเข้าสู่กระบวนการของศาลไปแล้วดังนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลภูเก็ตจังหวัดภูเก็ตในการรพิจารณาต่อไป