posttoday

เผยดัชนีความก้าวหน้าคนไทยมี60 "การศึกษา"ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

11 กันยายน 2560

สศช.เผยดัชนีความก้าวหน้าคนไทยปี 2560 การศึกษายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รัฐเร่งปฏิรูปด่วน

สศช.เผยดัชนีความก้าวหน้าคนไทยปี 2560 การศึกษายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย รัฐเร่งปฏิรูปด่วน

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดถึงดัชนีความก้าวหน้าของคนไทยปี 2560 ซึ่งจัดทำทุกๆ 2 ปีว่า ในภาพรวมประเทศไทยมีคะแนนค่าเฉลี่ยความก้าวหน้าของคนอยู่ที่ 0.59 จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน อยู่ในระดับปานกลาง

แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ด้านการศึกษาพบว่า มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 0.47 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน ปัจจุบันรัฐบาลก็ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งปฏิรูป โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างทางการศึกษาแล้วเพื่อช่วยพัฒนาระบบการศึกษาของคนไทยให้ดีขึ้น

ด้านความก้าวหน้าการพัฒนาคนในด้านที่มีคะแนนน้อย รองลงมาจากด้านการศึกษา 3 อันดับ คือ ด้านการมีส่วนร่วม มีคะแนนอยู่ที่ 0.53 ด้านรายได้ มีคะแนนอยู่ที่ 0.54 และด้านสุขภาพ มีคะแนนอยู่ที่ 0.56 ขณะที่ในด้านการพัฒนาคนที่มี คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม มีคะแนนอยู่ที่ 0.82 รองลงมาเป็นด้านชีวิตครอบครัว และชุมชน มีคะแนนอยู่ที่ 0.63 และด้านชีวิตการงาน มีคะแนนอยู่ที่ 0.62

เมื่อพิจารณาการพัฒนาคนในแต่ละภาค พบว่า ทุกภาคมีการพัฒนาคนด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมากที่สุด ขณะที่ภาคกลางมีการพัฒนาคนด้านการมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีการพัฒนาคนด้านการศึกษาน้อยที่สุด สำหรับกรุงเทพมหานครมีความก้าวหน้ามากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะด้านการศึกษาด้านชีวิตการงาน ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและการสื่อสาร แต่ยังมีปัญหาด้านการมีส่วนร่วม

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกเป็นระดับจังหวัด จะเห็นได้ว่า ใน 5 จังหวัดที่มีก้าวหน้าน้อยที่สุด คือ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ชัยนาท ปัตตานี และสระแก้ว ทั้ง 5 จังหวัดมีความก้าวหน้าด้านการศึกษาและรายได้น้อยมาก โดยมีค่าดัชนีด้านการศึกษาอยู่ระหว่าง 0.11-0.33 ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยประเทศ ที่มีอยู่ 0.47 รองลงมาคือ ด้านรายได้มีคะแนนค่าเฉลี่ยเพียง 0.27-0.43 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ ที่มีอยู่ 0.54

นายปรเมธี กล่าวว่า ในรายงานของความก้าวหน้าคน ภาพรวมจะเน้นให้เห็นมิติต่างๆ ตามดัชนีชี้วัด พร้อมทั้งแยกออกมาและเปรียบเทียบเป็นรายพื้นที่ให้ภาพของจังหวัด หรือให้เห็นสภาพแวดล้อม เพื่อจะได้หาทางพัฒนาขึ้นมาได้ โดยตามผลการศึกษาที่ออกมา มีทั้งด้านที่มีคะแนนต่ำและสูง จากนี้ไปข้อมูลนี้จะช่วยให้ทางจังหวัดได้รับรู้ถึงปัญหาและต้องกลับไปจัดทำเป็นแผนการพัฒนาคนในระดับจังหวัด