posttoday

รัฐบาลคสช.เปิดสำนักงานก.ศึกษาธิการ(ส่วนหน้า)จัดการศึกษาชายแดนใต้

12 กรกฎาคม 2560

รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน เปิดสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) มุ่งจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ น้อมนำพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10

รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน เปิดสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) มุ่งจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ น้อมนำพระบรมราโชบายรัชกาลที่ 10

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.60 เวลา 10.30 น.พลอากาศเอก ประจิน  จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)ตั้งอยู่ในกองบัญชา การกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จ.ปัตตานี พร้อมมอบโล่เกียรติคุณให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและหน่วยงาน ดีเด่นจำนวน 52 คนและเปิดอาคารสำนักงานกระทรวงศึกษาธิการส่วนหน้าอย่างเป็นทางการ โดยมี พลเอก สุรเชษฐ์  ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่ เช่น คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และผู้บริหารหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้บริหารการศึกษาว่าขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับโล่เกียรติคุณในวันนี้จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การศึกษาแก่ประชาชนในพื้นที่โดยมีการจัดการเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบตามอัตลักษณ์และตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมของชุมชน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า) ถือว่าเป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการศึกษาแห่งชาติ และนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เพิ่มเติมและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติและสนับสนุนด้านการศึกษาของทุกสังกัด ได้น้อมนำพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ได้พระราชทานไว้ไปดำเนินการให้เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ที่มุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1.  มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง  2.  มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม  3.  มีงานทำ มีอาชีพ  และ 4.  เป็นพลเมืองที่ดี

รวมทั้งให้นำเอาเป้าหมายในการดำเนินงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่ระบุไว้ว่า การทำให้เด็กและเยาวชนของชาติ  เจริญเติบโตบนพื้นฐานของการมีความรู้คู่คุณธรรมในการที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศในอนาคตและการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญกับการคิดวิเคราะห์ให้แก่คนไทยไปเป็นกรอบแนวความคิดในการปฏิบัติเพิ่มเติมด้วย นอกเหนือจากคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ที่ยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการใช้ภาษาไทยของคนในพื้นที่ การฝึกอบรมทั้งในระบบ และนอกระบบแบบที่มุ่งเน้น ให้ผู้เรียนมีอาชีพ มีงานทำ สร้างรายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้การจัดการศึกษาที่เท่าเทียม ทั่วถึง ตามความถนัด และสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่ การให้ความสำคัญกับเรื่องการเรียนและการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ถูกต้อง ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นที่รัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดการศึกษาที่ทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการแก้ไข ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติสุขได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และภาษาแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง การจัดการศึกษาในพื้นที่จึงต้องแตกต่างจากพื้นที่อื่น รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จึงได้ประกาศให้ใช้ชื่อการจัดการศึกษาว่า “การจัดการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “กระทรวงศึกษาธิการ (ส่วนหน้า)” เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน โครงการ และการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในโอกาสนี้ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันสร้างและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมนวัตกรรมการจัดการศึกษาชายแดนภาคใต้” ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ และบุคคลทั่วไปจำนวนกว่า 3,500 คน