posttoday

วอนหยุดอ้าง "พนักงานมหาวิทยาลัย" ดัน พรบ.ระเบียบการบริหารงานบุคคล

22 พฤศจิกายน 2559

เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐฯ ชี้พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคล ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวอุดมศึกษา

เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐฯ ชี้พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคล ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวอุดมศึกษา

จากที่ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า จะผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา โดยอ้างสิทธิประโยชน์ต่างๆที่พนักงานมหาวิทยาลัยจะได้ ในหลายมาตรา นั้น

รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประชาคมอุดมศึกษาทุกภาคส่วนต่อต้านมาหลายปี หากเป็นกฎหมายของชาวอุดมศึกษาจริง จะมีโทษมากกว่าคุณ และจะที่สนองบุคคลเพียงบางกลุ่ม เป็นกฎหมายที่มีเบื้องหลังที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวอุดมศึกษา เริ่มตั้งแต่ที่มาของ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในรายชื่อของคณะอนุกรรมฯ ชุดนี้ พบว่ามีหลายคนมีความเกี่ยวโยง เป็นพรรคพวกกัน ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อลากร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านให้ได้ ผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงไม่ได้เข้าร่วม เคยทำประชามติก็ไม่ผ่านหลายครั้ง โดนถอดออกจากที่ประชุม ก.พ.อ. ให้ไปทบทวน ประชาคมอุดมศึกษาไม่เห็นด้วยในเนื้อหาหลายอย่าง ก็ไม่ดำเนินการแก้ไข แต่มีความพยายามดันร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อให้สุดซอย จนอนุกรรมการเฉพาะกิจหลายท่านไม่เข้าร่วมประชุมด้วย รวมถึงตนเองด้วย

ทั้งนี้ ยังสงสัยในเรื่ององค์ประชุมว่าอาจไม่ครบหรือไม่ และผ่านมติไปหารัฐมนตรีได้อย่างไร

รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ กล่าวต่อว่า เลขาธิการ สกอ. พึ่งเข้ามาใหม่ อาจยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ตนเองอยากแนะนำว่า อย่าฟังคนของท่านเพียงไม่กี่คน ให้ดูประวัติย้อนหลังถึงความต้องการของชาวอุดมศึกษาจริงๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะบังคับทุกกลุ่ม ทั้งพนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ลูกจ้าง หากดีจริง ทำไมไม่บังคับใช้กับ บุคลากรของ สกอ. รวมถึงเลขาธิการ สกอ. ด้วย และในอดีต มีมติจากที่ประชุมหลายกลุ่ม ไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง CHES และที่ประชุมสภาคณาจารย์ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ประชุมอธิการบดีในอดีตก็ยังเคยมีมติไม่รับร่างนี้ ท่านรับรู้หรือไม่ และอยากตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ต่างมี พ.ร.บ. เป็นของตนเองอยู่แล้ว มีระบบบริหารงานบุคคลที่ดีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่กำลังดันอยู่นี้อย่างมาก จะให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นทำอย่างไร หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้

รศ. ดร. วีรชัย กล่าวเสริมต่อว่า ปัญหาหลักของพนักงานมหาวิทยาลัย ณ สภาพปัจจุบันคือเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่ง CHES เคยประสาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) เพื่อช่วยดำเนินการจัดทำต้นแบบกองทุนสุขภาพ ล้อระบบราชการ ตามโมเดลที่ สปสช เคยทำสำเร็จมาแล้วให้กับ กลุ่มพนักงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) จนสามารถเบิกจ่ายระบบจ่ายตรงที่โรงพยาบาลได้เหมือนระบบราชการ ซึ่ง ทาง สกอ. และ สปสช เคยบรรลุข้อตกลงมาครั้งหนึ่ง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกะทันหัน และก็ไม่ได้ผลักดันต่อ ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  แต่กลับมาผลักดันร่าง พ.ร.บ. บริหารงานบุคคลฉบับนี้ ซึ่งมีเนื้อหาบังคับให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดทำกองทุนสุขภาพกันเอง ซึ่งอาจมองว่าดี แต่จะดีต่อเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่เท่านั้น มหาวิทยาลัยขนาดเล็กเสียเปรียบ เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นกองทุนแยกย่อยที่ไม่มีพลังเหมือน อปท. ในอดีต ที่แต่ละท้องถิ่นดูแลสวัสดิการกันเอง ทำให้กระทรวงมหาดไทยมาขอให้ สปสช รวมกองทุนแยกย่อยให้ใหญ่ขึ้น จนเป็นกองทุน อปท. ที่ดีกว่าระบบราชการด้วยซ้ำ

รศ. ดร. วีรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า CHES จะเป็นแกนในการทักท้วง ร่าง พ.ร.บ. นี้ และหากยังยึดเยื้อดันให้สุดซอย เพื่อสนองอีโก้ของกรรมการบางคน ก็อาจต้องประท้วง และฟ้องศาลปกครองต่อไป