posttoday

ปฏิรูปอุดมศึกษาอย่าโยนบาป"ราชภัฎ-ราชมงคล"

23 สิงหาคม 2559

เลขาฯ CHES ย้ำ ปฏิรูปอุดมศึกษา อย่าโยนบาป "ราชภัฎ-ราชมงคล"

เลขาฯ CHES ย้ำ ปฏิรูปอุดมศึกษา อย่าโยนบาป "ราชภัฎ-ราชมงคล"

จากกรณีที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับสำนักนโยบายและแผนการอุดมศึกษา (สนผ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เสนอแนวทางในการปฏิรูปอุดมศึกษา โดยเบื้องต้นเจาะจงการปฏิรูปไปที่มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) นั้น

รศ. ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ Coordinating Center for the Public Higher Education Staff (CHES) ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า มหาวิทยาลัยหลัก ก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ทำให้มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เติบโตลำบาก

รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยหลักหลายแห่ง ทยอยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยก็มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น จิตวิญญาณและหน้าที่ในเชิงวิชาการชั้นสูงของประเทศได้หายไป เพราะมัวไปเปิดหลักสูตรที่หาเงิน และทับซ้อนกับมหาวิทยาลัยในชุมชน ทับซ้อนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ อย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ที่มีหลักสูตรที่ซ้ำกับมหาวิทยาลัยหลักที่ลงไปเปิดแข่งขัน เพื่อดึงเงินรายได้เข้ามหาวิทยาลัย เช่น หลักสูตรภาคพิเศษด้านการโรงแรมการท่องเที่ยว หลักสูตรการจัดการ(ภาคพิเศษ) หลักสูตรบริหารต่างๆ(ภาคพิเศษ) หลักสูตรพัฒนาชุมชน(ภาคพิเศษ)  เป็นต้น แทนที่มหาวิทยาลัยหลัก ต้องมุ่งเน้นในศาสตร์ขั้นสูง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ กลับต้องมาทยอยเปิดหลักสูตรที่ซ้ำซ้อนมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ที่แย่ไปกว่านั้น มีการขยายวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยหลัก ออกไปยังพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ตั้งอยู่ อีกเยอะมาก

รศ. ดร. วีรชัย กล่าวต่อว่า บางหลักสูตร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎ ราชมงคลบางแห่ง มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยหลักก็ไปเปิดแข่ง เพื่อดึงนักศึกษาเข้าไปเรียน ซ้ำร้าย ยังดึงอาจารย์ในสาขานั้น หรือที่เรียกว่า "ตกปลาในบ่อเพื่อน" ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยหลักแทน ทำให้มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ เติบโตลำบาก เป็นรองหลายด้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณแผ่นดิน ที่มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่นี้ ได้งบประมาณแผ่นดินในหลักร้อยล้าน ซึ่งต่างากมหาวิทยาลัยหลัก ที่มีงบประมาณแผ่นดินในหลักพันล้าน การลืมจิตวิญญาณในศาสตร์ขั้นสูงของมหาวิทยาลัยหลัก ก็เป็นหนึ่งในปัญหาอุดมศึกษาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน  และเมื่อสาขาต่างๆที่เปิดซ้ำกันจนล้นตลาด ก็ทำให้มีผู้เรียนน้อยลง และไม่ตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศ จึงขอวิงวอนให้ทบทวนเป้าใหม่เพื่อแก้ปัญหา การปฏิรูปทั้งระบบให้ถูกจุด