posttoday

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ใช้ไอซีทีทลายกำแพงการเรียนรู้ "ไทย-มาเลย์"

30 พฤษภาคม 2559

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ใช้ไอซีทีทลายกำแพงการเรียนรู้ "ไทย-มาเลย์" เชื่อมครู-นักเรียน 2 ประเทศ เรียนรู้เรียลไทม์-ไร้พรมแดน

ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ใช้ไอซีทีทลายกำแพงการเรียนรู้ "ไทย-มาเลย์" เชื่อมครู-นักเรียน 2 ประเทศ เรียนรู้เรียลไทม์-ไร้พรมแดน

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจากประเทศมาเลเซียสู่ครูไทยด้วยโปรเจ็คท์ “ThaiMas” เชื่อมโยงการเรียนรู้ไร้พรมแดนผ่านระบบไอซีที “2 ประเทศ 3 จังหวัด 3 โรงเรียน” ระหว่างประเทศมาเลเซีย โรงเรียนมัธยม Taman Bukit Maluri กับโรงเรียนปทุมวิไล จ.ปทุมธานี และโรงเรียนแม่ริม จ.เชียงใหม่

นายไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศมาเลเซีย ผู้สอนเทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาหลักสูตรไอซีที ของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ฝึกสอนระดับชาติในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเทคโนโลยีและการสื่อสารกล่าวว่า ทักษะไอซีทีเป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แม้ในโรงเรียนที่ห่างไกลและมีข้อจำกัดต่างๆ ก็ยังใช้ ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ได้ จนเป็นเครื่องมือที่ทลายกำแพงการเรียนรู้และข้อจำกัดต่างๆให้หมดไป เพียงคลิกเดียวก็สามารถดึงนักเรียนกลับสู่ห้องเรียนได้ 

“ผมมีเพื่อนจากทั่วโลก และทำงานจริงจังใน 15 ประเทศ ซึ่งหมายถึงเพื่อนครูร่วมร้อยคน ประเทศไทยผมมีโอกาสได้พบคุณครูจันทร์จิรา ตอนปี 2549 เธอได้รับรางวัล Thailand Innovative teacher จากบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งยกย่องให้เป็นราชินีแห่งโปรแกรม EXCEL เพราะเธอใช้ Excel สร้างเกมส์การเรียนรู้ที่น่าสนใจ ซึ่งหลังจากผมได้รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเมื่อปี 2558 จึงชวนกันสร้างห้องเรียนไร้พรมแดน ร่วมกับโรงเรียนแม่ริม เชียงใหม่ และโรงเรียนปทุมวิไล ปทุมธานีขึ้น นักเรียนของครูจันทร์จิราสามารถใช้สื่อออนไลน์รูปแบบต่างๆ ทั้งเฟสบุ๊ค Skype สื่อสารกับผมได้ ประเด็นสำคัญคือ การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนของสองประเทศเพื่อพัฒนาทักษะในด้านต่างๆให้ดีขึ้น ฉะนั้นไม่อยากให้คิดว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผมมีเพื่อนครูชาวโรมาเนียที่ตั้งครรภ์แต่ยินดีที่จะตื่นตีสามเพื่อสอนลูกศิษย์ผมที่มาเลเซียในเวลาเก้าโมงเช้า หลายครั้งผมสอบลูกศิษย์ผ่านไอซีที จากคนละมุมโลก นี่เป็นความงดงามนวัตรกรรม ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ไร้พรมแดน และไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลา ผมดีใจที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคุณครูเครือข่ายรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และจะยินดีมากหากครูท่านใดต้องการร่วมเรียนรู้กับผม”

นางจันทร์จิรา พงษ์ชู ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนปทุมวิไล สอนวิชาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่ารู้จักคุณครูไซนุดีเมื่อปี 2549 แต่เริ่มทำงานร่วมกันเมื่อต้นปี 2559 โดยส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษ บางครั้งระหว่างสื่อสารก็ต้องค้นหาคำตอบในภาษาอังกฤษ ทำให้รู้ว่าไม่เพียงแต่นักเรียนต้องเรียนรู้แล้ว ครูจะหยุดเรียนรู้ไม่ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่พบคือ ลูกศิษย์สนุกและกระตือรือร้นกับการเรียนรู้ สามารถดึงกลุ่มนักเรียนที่อาจจะไม่ถนัด และกลัวการสื่อสารภาษาอังกฤษมีความกล้าและสนใจบทเรียนมากยิ่งขึ้น

นางวาสนา เลิศศิลป์ กรรมการวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการวิชาการ มูลนิธิฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า 15 ประเทศ ผ่าน Skype สำหรับเด็กเยาวชนที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ยังเห็นจิตวิญญาณความเป็นครูผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง เช่น การปรับปรุงห้องเรียนด้วยเงินรางวัลที่ได้ หรือการกลับมาช่วยรร.ในประเทศไทย เป็นต้น แม้กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียมีความพยายามจะดึงตัวเขาไปทำงาน แต่เขาเลือกที่จะอยู่ดูแลเด็กๆในฐานะคุณครูต่อไป ซึ่งทางมูลนิธิฯมีความตั้งใจจะเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้จากครูผู้ได้รับรางวัลฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต ทั้ง 11 ประเทศสู่เครือข่ายครูในประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุดมีการขยายการดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าในระดับจังหวัดทั่วประเทศจำนวน 163 คน ในโครงการร่วมสร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสสค.