posttoday

มหิดลเล็งยื่นให้หมอหนีทุนเป็นบุคคลล้มละลาย

02 กุมภาพันธ์ 2559

มหิดลแถลงกรณีหมอหนีชดใช้ทุนรัฐบาล เตรียมยื่นให้เป็นบุคคลล้มละลายเพื่อดำเนินการทวงหนี้ข้ามประเทศ

มหิดลแถลงกรณีหมอหนีชดใช้ทุนรัฐบาล เตรียมยื่นให้เป็นบุคคลล้มละลายเพื่อดำเนินการทวงหนี้ข้ามประเทศ

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดี มม. พร้อมด้วย รศ.ทพ. พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มม. แถลงข่าวกรณี ทพญ.ดลฤดี จำลองราษฏร์ ที่ไม่ยอมใช้ทุนทางการศึกษาจนส่งผลให้ผู้ค้ำประกันทุนการศึกษา 4 ราย ต้องถูกติดตามชดใช้หนี้แทน โดย 1 ใน 4 ราย คือ ทพ.เผด็จ พูลวิทยกิจ  ได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดในครั้งนี้จนเป็นข่าวโด่งดังและถูกสังคมจับตามองอย่างมากในประเด็นดังกล่าว และการแนวทางการใช้หนี้ทุนการศึกษา

ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า ผู้ค้ำประกันได้ชดใช้เงินทุกคนแล้ว ถือว่าผู้ค้ำประกันทุกรายพ้นความรับผิดชอบทั้งหมดแล้ว ส่วนการติดตามบังคับทรัพย์สินของผู้รับทุนนั้น เรื่องนี้เป็นการดำเนิการในคดีแพ่งและมีมูลกรณีเกิดขึ้นในประเทศไทย บรรดาเจ้าหนี้จึงไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกราชอาณาจักรได้

"ขณะนี้ได้หารือกับ สกอ.แล้วเล็งฟ้องผู้รับทุนเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่งมีขั้นตอนการทวงหนี้ข้ามประเทศได้ โดยทั้งหมดกำลังดำเนินการอยู่ตอนนี้ แม้ผู้ค้ำประกันจะชดใช้หนี้แทนแล้วจำนวน 8 ล้านบาท แต่หากผู้ค้ำประกันกลับมาประเทศก็จะต้องใช้หนี้เต็มจำนวนคือ 30 ล้านบาท และคืนเงินให้ผู้ค้ำประกัน ยืนยันทางมหาวิทยาลัยไม่เพิกเฉย เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ และเป็นกรณีศึกษาว่าหลังจากนี้จะมีการพิจารณาว่าทำอย่างไรจะติดตามเงินจากคนที่รับทุนที่อยู่ในต่างประเทศได้ โดยจะทำกรณีนี้เป็นกรณีศึกษา" ศ.นพ.บรรจง กล่าว

ทพ.พาสน์ศิริ  กล่าวว่า สำหรับการติดตามทวงถามการชดใช้จาก ทพญ.ดลฤดี ที่ผ่านมานั้น หลังจากทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่งหนังสือให้มาชดใช้หนี้ทุนเมื่อวันที่ 7 ก.ย. แต่ไม่ได้รับการชดใช้หนี้ตามกำหนด จึงทำหนังสือเรียกผู้ค้ำประกัน เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2547 ถือเป็นครั้งแรกและชดใช้เงินหนี้ภายใน 30 วัน ถัดมาวันที่ 6 ต.ค. ปีเดียวกันทำหนังสือแจ้งไปอีก กระทั่งวันที่ 12 พ.ย.2547 จึงได้ยื่นฟ้อง ทพญ.ดลฤดีและผู้ค้ำประกัน 4 ราย ก่อนที่ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งพิพากษาถึงที่สุดให้ ทพญ.ดลฤดี และผู้ค้ำประกันรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง โดยมีผู้ค้ำประกัน 2  ราย ทำงานอยูในคณะทันตแพทย์ และเป็นศิษย์เก่าด้วย ทางมหาวิทยาลัยมหิดลก็เห็นคนเหล่านี้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการติดตามมาโดยตลอดไม่เพิกเฉยต่อกรณีที่เกิดขึ้น พยายามติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและผู้รับทุน

"ผู้ค้ำประกันได้ชดใช้เงินครบหมดแล้ว จำนวน 8 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและเงินปรับ ส่วนผู้รับทุนจะต้องชดใช้เงิน 2 เท่า และดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์" คณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์ ระบุ

ทพ.พาสน์ศิริ กล่าวอีกว่า เคยมีการหารือว่าจะให้ผู้รับทุนสอนหนังสือผ่านทางระบบออนไลน์ หรือมาสอนบ้างเป็นครั้งคราวเพื่อผ่อนชำระหนี้ทุน แต่ได้สอบถามกับกรมบัญชีกลางแล้วว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ สำหรับคดีนี้มีอายุความ 10 ปี และจะหมดอายุความในวันที่ 14 ก.พ.นี้ ถ้าหากมหาวิทยาลัยมหิดลไม่ปฏิบัติตามดำเนินการเท่ากับมหาวิทยาลัยฯมีความผิด เพราะเป็นเงินของรัฐ

"2-3 วันที่ผ่านมายังติดต่อกับผู้รับทุนอยู่ พร้อมทวงถามเรื่องการชดใช้เงิน แต่ผู้รับทุนบอกว่าไม่มีเงิน มีภาระเยอะ และอ้างว่ารัฐเรียกร้องมากไป และผู้รับทุนยังสอบถามกลับว่าจะให้ช่วยยังไง ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งว่าเปิดบัญชีรอไว้แล้วให้โอนเงินเข้ามาได้เลยแต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆจากผู้รับทุน" ทพ.พาสน์ศิริ กล่าว

ทพ.พาสน์ศิริ ระบุอีกว่า ผู้รับทุนได้ยื่นเรื่องขอลาออกโดยส่งจดหมายส่วนตัวมายังมหาวิทยาลัยฯ วันที่ 15 พ.ย.2546 ส่งใบลาออกจริงตามแบบฟอร์มวันที่ 5 พ.ค.2547 และทางมหาวิทยาลัยฯได้อนุมัติลาออก วันที่ 28 ก.ย.2547ส่วนสาเหตุที่ผู้รับทุนขอลาออกเพราะต้องการไปทำงานวิจัยต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา