posttoday

โรงเรียนขานรับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้

09 ตุลาคม 2558

โฆษกรัฐบาลเผยนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ได้ใจ เสียงตอบรับจากโรงเรียนจำนวนมาก

โฆษกรัฐบาลเผยนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ได้ใจ เสียงตอบรับจากโรงเรียนจำนวนมาก 

พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และกำชับให้กระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้หลายนโยบายมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”  หรือ Moderate Class More Knowledge นั้น ปรากฎว่าได้ความร่วมมือจากโรงเรียนมากถึง 3,800 แห่งทั่วประเทศ

“รัฐบาล ได้มอบนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ พร้อมอธิบายแนวคิด ไปยังสถานศึกษา นอกจากนี้ ยังจัดทีมสมาร์ทเทรนเนอร์ เพื่อฝึกอบรมครูทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่วันที่ 2 พย.นี้ ขอให้ผู้ปกครองเชื่อมั่นและสบายใจว่ารัฐบาล มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กๆทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”

พลตรีสรรเสริญ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้า ในการพัฒนานักเรียนชั้น ป.1 ให้อ่านออกเขียนได้ภายใน 1 ปี โดยกำหนดให้ปี 2558 เป็น “ปีแห่งการปลอดนักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้น โดยเน้นตามแนวทางพัฒนาทางสมอง (Brain-based-learning หรือ BBL) ได้ปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยในหลายแนวทางทั้งการเรียนในห้องเรียน และการเรียนผ่านการเล่นพร้อมทั้งฝึกอบรมผู้บริหารและครูผู้สอนกว่า 65,000 คน สนับสนุนการจัดทำสื่อการเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ให้แก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนแจกแบบเรียนเร็วแก่นักเรียน ป.1- ป.3 ทุกคน

ทั้งนี้การประเมินผล เด็กชั้น ป. 1 จำนวน 100,660 คน จากโรงเรียน จำนวน 2,022 โรง ในสังกัด สพฐ .ทั่วประเทศที่คัดเลือกมาเป็นกลุ่มตัวอย่างในการเรียนการสอนภาษาไทย พบว่า อัตราการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ลดลงอย่างชัดเจน จากที่เข้าโครงการครั้งที่ 1เมื่อเดือนมิ.ย.2558 พบว่า มีเด็ก ป.1 อ่านไม่ออก 11,576 คน และเขียนไม่ได้ 8,727 คน ต่อมาได้ติดตามผล ในครั้งที่ 2 เดือนก.ค. 2558 พบว่า มีเด็ก ป.1 อ่านไม่ออกลดลงเหลือ 5,616 คน และเขียนไม่ได้ลดเหลือ 5,088 คน

“ท่านนายกฯ ฝากขอบคุณผู้บริหารโรงเรียนและครูทั่วประเทศ ที่ให้ความร่วมมือในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านการเขียน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเด็กไทยสามารถอ่านออกเขียนได้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาตอนต้น จะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ เพื่อการเรียนในวิชาอื่นๆ และเปิดโลกทัศน์ สามารถค้นพบความถนัดของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาเด็กผู้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญที่สุด"