posttoday

ศธ.แจงอย่าตีความเลิกเรียนบ่าย2ผิด

28 สิงหาคม 2558

รมว.ศึกษาธิการแจง การปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ไม่ใช่แค่เลิกเรียนตอนบ่ายสอง

รมว.ศึกษาธิการแจงการปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ไม่ใช่แค่เลิกเรียนตอนบ่ายสอง

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดในเรื่องการให้เลิกเรียนในเวลา 14.00 น. แต่ไม่มีการขยายความ การปรับลดเวลาเรียนให้น้อยลง มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไม่ต้องเครียดจนเกินไป ตามนโยบายของรัฐบาล ที่มอบให้ศธ.มาทำการศึกษาดูความเป็นไปได้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ก็ได้ไปศึกษา และดูแล้วว่ามีความเป็นไปได้ คือสามารถลดการเรียนวิชาหลักลงได้ จากเดิมเด็กต้องเรียน1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปี โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเด็กเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาและระดับบอุดมศึกษา และเห็นว่าน่าจะสามารถเลิกเรียนได้ในเวลา 14.00 น. แต่การที่ให้เด็กเลิกเรียนในเวลาดังกล่าว ก็จะต้องมาดูผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็พบว่า มีผู้ปกครองบางคนไม่พร้อมที่จะรับเด็กกลับบ้าน เพราะหน้าที่การงาน กลัวลูกจะได้รับอันตราย และสบายใจที่จะให้ลูกอยู่ในโรงเรียนมากกว่า
 
"ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คืออาจจะมีภาระ อยากให้พี่มาช่วยเลี้ยงน้อง มาช่วยดูแลบ้าน ทั้งสองส่วนนี้ไม่ได้ห้าม ถ้าจะกลับบ้านก็ได้ แต่ส่วนที่ไม่พร้อมรับเด็กกลับบ้านโรงเรียนจะมีกิจกรรมที่มีความสุขให้เด็ก ในช่วงบ่าย แนวทางนี้จะตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี ที่ให้จัดการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความสุข ผู้ปกครองมีความสุข และครูมีความสุข หากเด็กได้เลิกเรียนเวลา 14.00 น. ไปทำกิจกรรม เล่นกีฬา ดนตรี ครูพาไปทำกิจกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ได้ ตอนนี้สพฐ. อยู่ระหว่างจัดทำกิจกรรมที่เหมาะสมเพื่อให้โรงเรียนนำไปประยุกต์ใช้ โดยจะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่ทำให้เด็กเครียด แม้กระทั่งจะให้เด็กนั่งทำการบ้านในเวลาสองชั่วโมงก่อนกลับบ้านก็สามารถทำ ได้"รัฐมนตรีว่าการศธ.กล่าวและว่า ทั้งหมดคือแนวคิดซึ่ง สพฐ.รับโจทย์ไปดำเนินการ และได้เริ่มวางแนวทางปรับลดเวลาเรียนดังกล่าวไปแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการศธ. และจะเริ่มนำร่องใน 3,500 โรงเรียนที่มีความพร้อมหรือคิดเป็น 10% ของจำนวนโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดสพฐ.ทั้งหมด ในภาคเรียนที่ 2/2558 จากนั้นตนจะประเมินผล ดูว่ามีผลตอบรับในด้านบวกหรือลบ เพื่อทำการปรับปรุงและขยายผลต่อไป ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่จึงต้องทำแบบนำร่อง ภายใต้หลักคิดดังกล่าว ไม่ใช่ให้เลิกเรียนแล้วเด็กกลับบ้าน ขอให้ใช้คำนี้ว่า ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ให้ไปทำกิจกรรมพัฒนาสมองเด็ก 
 
ด้าน นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการสพฐ. กล่าวว่า การปรับลดเวลาเรียนดังกล่าว เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสังคมที่มองว่าเด็กเรียนมากเกินไป สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนลงโดยในช่วงเช้าจนถึงเวลา 14.00 น. จะเรียนวิชาหลัก หลังจากนั้นจะให้เด็กเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ อาทิ ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรี พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ  หรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต อาทิ สอนว่ายน้ำ ทำกับข้าว เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน   รวมทั้งการสอนเสริมโดยเฉพาะการสอนทำการบ้าน ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง  ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน โดยเร็วๆนี้ สพฐ.จะเชิญ ผอ.เชตพื้นที่การศึกษา และผอ.โรงเรียนมาประชุมเพื่อร่วมกันออกแบบการจัดตารางกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งจะมีประมาณ 6-7 รูปแบบให้โรงเรียนนำร่องได้เลือกใช้ตามความสมัครใจ คาดว่ากลางเดือน ก.ย.นี้น่าจะได้รูปแบบที่ชัดเจน

"ยืนยันว่าเลิกเรียนบ่าย 2 โมงแล้ว สพฐ.ไม่ได้ให้ปล่อยเด็กออกนอกโรงเรียน หรือให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เพราะเข้าใจความจำเป็นของผู้ปกครองที่ต้องทำงาน เวลาเลิกเรียนยังคง เหมือนเดิม แต่ในระหว่างนี้จะให้เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสังคม อารมณ์ และร่างกาย เพิ่มเติมจากเรื่องของสติปัญญา ยกเว้นเด็กที่มีความจำเป็นต้องกลับไปช่วยผู้ปกครองทำงานซึ่งก็จะมีเพียงเล็กน้อย" นายกมลกล่าว