posttoday

ศิษย์เก่าชี้ธุรกิจผูกขาด-สารเคมีเข้าครอบงำมก.

05 มีนาคม 2558

"วิฑูรย์ เลี่ยนจรูญ" ระบุ ธุรกิจผูกขาด-สารเคมี-จีเอ็มโอครอบงำมก. แนะฟื้นฟูอุดมการณ์-ยึดแนวบูรพาจารย์

"วิฑูรย์ เลี่ยนจรูญ" ระบุ ธุรกิจผูกขาด-สารเคมี-จีเอ็มโอครอบงำมก. แนะฟื้นฟูอุดมการณ์-ยึดแนวบูรพาจารย์

หลังจากกรณีที่ศาตราจารย์ระพี สาคริก อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ขอให้ลบชื่อตัวเองออกจากการตั้งเป็นชื่อถนน ลานกล้วยไม้ และอาคารในมก. เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันอุดมการณ์ของมก.เปลี่ยนไปมาก โดยมุ่งเน้นไปที่การก่อสร้างและธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่มากกว่าจะทำเพื่อเกษตรกรรายย่อยและชาวบ้าน

วันนี้ ( 5 มี.ค.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ในฐานะศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รู้สึกห่วงใยถึงความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ไม่ดี ขณะเดียวกันก็ได้พยายามศึกษาว่าทำไมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถึงเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดนี้ และทำให้มก.กลายเป็นฐานของธุรกิจขนาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะ 3 กลุ่มธุรกิจคือ 1.กลุ่มสารเคมีเกษตร เช่น ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงกันระหว่างนักวิชาการในมก.กับนักธุรกิจด้านนี้จนแยกไม่ออก และที่รับไม่ได้คือเมื่องานเกษตรแฟร์ครั้งที่ผ่านมา ได้มีการแจกเอกสารโจมตีเกษตรอินทรีย์อย่างชัดเจน ซึ่งคนเขียนก็เป็นอาจารย์อยู่ในมก.ด้วย 2.กลุ่มธุรกิจผูกขาดด้านการเกษตรขนาดใหญ่ซึ่งส่งคนของตัวเองเข้ามามีตำแหน่งในมก. เช่น กรณีของไร่สุวรรณ และ 3.กลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนพืชจีเอ็มโอ

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวต่อว่า ในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มก.ได้เข้าไปสัมพันธ์กับธุรกิจทั้ง 3 ประเภทจนแยกไม่ออก โดยสามารถเชื่อมโยงไปถึงคนระดับอดีตอดีตอธิการบดีและนักวิชาการของมก. โดยบุคลากรเหล่านี้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยในการตอบสนองด้านผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าเกษตรกรรายย่อยหรือประชาชน แตกต่างจากทิศทางสมัยที่บูรพาจารย์และศ.ระพีได้วางรากฐานเอาไว้

“ท่านอาจารย์ระพีส่งเสริมให้พานักศึกษาเข้าหาชาวบ้าน หรือลงสู่พื้นดิน และสร้างอาชีพใหม่ๆให้เกิดขึ้นเหมือนกรณีที่ท่านอาจารย์ทำเรื่องกล้วยไม้จนสามารถสร้างเป็นอาชีพให้ชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่เป็นแค่ธุรกิจของคนมีเงิน แต่บรรยากาศในมก.ตอนนี้กลับตรงกันข้ามเพราะใกล้ชิดอยู่กับธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ แถมยังพยายามผลักดันเรื่องพืชจีเอ็มโออีกต่างหาก แทนที่จะให้สติสังคม กลับคิดแต่จะผลักดันนโยบายที่ไม่ได้ประโยชน์ต่อชาวบ้าน”

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า แนวคิดในการปลุกอุดมการณ์ของมก.ให้กลับคืนมานั้น เบื้องต้นบุคลากรของมหาวิทยาลัยต้องแยกตัวเองให้ออกระหว่างบทบาททางวิชาการกับผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะสมาคมปุ๋ยเคมี ซึ่งมียอดนำเข้าจากต่างประเทศปีละนับแสนล้านบาท และสมาคมสารเคมี เช่น ยากำจัดศัตรูพืชที่มียอดนำเข้าปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท และสมาคมพืชจีเอ็มโอที่ใช้มก.เป็นฐานและเป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางด้านการเกษตรของประเทศได้

"จริงๆแล้วบทบาทของนักวิชาการในมก.ต้องตอบสนองเกษตรกรรายย่อยหรือชาวไร่ชาวนา โดยบูรพาจารย์และศ.ระพี ได้สร้างเป็นแนวทางหรือตัวอย่างไว้ให้เห็น ขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมซึ่งมก.หนักหน่อยเพราะเชื่อมโยงอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่โดยตรง จำเป็นต้องปรับหลักสูตรที่ล้าหลังเพื่อตอบสนองสถานการณ์อย่างเท่าทัน เช่น ครั้งหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 พูดถึงเกษตรกรยั่งยืน แต่ผ่านไปแล้ว 15 ปีจนเข้าสู่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 ในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อรองรับ ทำให้เรื่องนี้ไม่ประสบผลเท่าที่ควรเพราะผู้บริหารมหาวิทยาลัยยังคงเดินหน้าไปตามธุรกิจกระแสหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารโจมตีการทำเกษตรอินทรีย์ที่นายวิฑูรย์พูดถึงเป็นหนังสือที่แจกภายในงานเสวนาช่วงงานเกษตรแฟร์ 2558 ที่ผ่านมา ชื่อหนังสือว่า “ปลูกพืชอินทรีย์ไม่ดีอย่างที่คิด ปลูกพืชปลอดจากสารพิษดีกว่าไหม” เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อำนาจ สุวรรณฤทธิ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร ซึ่งในบทคัดย่อของหนังสือเล่มดังกล่าวตอนหนึ่งระบุว่า เป็นการนำเสนอผลการวิจัยเปรียบเทียบผลในด้านต่างๆของปุ๋ยทั้ง 3 ประเภทคือปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ เมื่อใช้ประเภทเดียวกัน ใช้ 2 ประเภทร่วมกัน และใช้ 3 ประเภทร่วมกันในการผลิตพืช เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับกระแสความเชื่อหรือความคิดที่ว่า การผลิตพืชอินทรีย์เป็นการผลิตที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ต้นทุนการผลิตพืชที่ต่ำ มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดมลพิษหรือมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูง ไม่มีมลพิษในผลผลิต ทำให้โรคและแมลงทำลายพืชน้อย และคุณภาพด้านโภชนาการของผลผลิตสูง

ทั้งนี้ ในบทคัดย่อระบุว่า ผลการวิจัยให้ข้อสรุปว่ากระแสความเชื่อและความคิดดังกล่าวไม่ถูกต้อง กล่าวคือผลการวิจัยให้ข้อสรุปว่า การปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยทั้ง 3 ประเภทให้เหมาะสมกับดินและพืชทำให้ต้นทุนผลผลิตต่ำกว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษน้อยกว่าหรือมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า ทำให้โรคและแมลงทำลายพืชน้อยกว่า และคุณภาพด้านโภชนาการของผลผลิตสูงกว่าเมื่อเทียบกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชอินทรีย์

ขณะที่ นายชนวน รัตนวราหะ นักวิชาการอิสระและอดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เขียนผ่านเฟซบุ๊ก ว่ารู้สึกเสียใจและเสียดายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ก่อตั้งมาเป็นปีที่ 72 ด้วยคณะบูรพาจารย์ที่เสียสละเพื่อให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นที่พึ่งของประชาชนโดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรในด้านความรู้ทางการเกษตร แต่กำลังจะถูกคนที่รับจ้างสอน (ไม่อยากเรียกว่าอาจารย์)ทำลายความน่าเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อมหาวิทยาลัยนี้ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศ

“ผมเป็นนิสิตเก่ารุ่นที่ 17 ได้ศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์มากว่า 25 ปี ได้อ่านสิ่งที่คนกลุ่มนี้นำออกสู่สาธารณะโดยไม่ทราบว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดแล้ว รู้สึกผิดหวังอย่างมาก”นายชนวน ระบุ