posttoday

ก.พาณิชย์ดันสมุนไพร 4 ชนิด เป็นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ตลาดระดับโลก

06 กันยายน 2560

ฉุดไม่อยู่ตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยอดส่งออกทะลุแสนล้าน ก.พาณิชย์สบช่องนำต่างชาติสำรวจโรงงานผลิตสมุนไพรชั้นนำ หวังโชว์ศักยภาพการผลิตปูทางไทยขึ้นแท่นฮับสมุนไพรของอาเซียน

 

ฉุดไม่อยู่ตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยอดส่งออกทะลุแสนล้าน ก.พาณิชย์สบช่องนำต่างชาติสำรวจโรงงานผลิตสมุนไพรชั้นนำ หวังโชว์ศักยภาพการผลิต ปูทางไทยขึ้นแท่นฮับสมุนไพรของอาเซียน พร้อมเตรียมปั้นสมุนไพร 4 ชนิด (บัวบก-ขมิ้นชัน-ไพล-กระชายดำ) ขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ในตลาดระดับโลก

นางสาวชนินทร หริ่มเจริญ ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้นานาประเทศได้เห็นถึงศักยภาพอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยที่สามารถนำสมุนไพรบ้านๆผลิตส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล รวมทั้งเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายธุรกิจของสมุนไพรไทย ตลอดจนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสินค้าสมุนไพร กระทรวงพาณิชย์ได้จัดโปรแกรมสำรวจศักยภาพสมุนไพรไทยขึ้นที่โรงงานชีวะโกโอสถ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานีและบริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด อ.วังน้อย จ. พระนครศรีอยุธยาโดยได้เชิญผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเยี่ยมชม ซึ่งนานาประเทศมีความทึ่งในสรรพคุณและศักยภาพของสมุนไพรไทยอย่างมาก

สำหรับ โปรแกรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมหนึ่งของงาน"Thai Herb InnoBiz Network 2017" ที่กระทรวงพาณิชย์จัดควบคู่กับงาน "มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ" ครั้งที่ 14 ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่31สค.-3กย.60 นี้ ณ.อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางการค้าและการตลาดสมุนไพรไทย

นางสาวชนินทร กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งความต้องการในการบริโภคเพื่อการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพรวมถึงความต้องการในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสมุนไพรต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างความหลากหลายในการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ส่งผลให้สมุนไพรถูกนำไปใช้ในอุตสากรรมหลายประเภทและสมุนไพรบางรายการก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นอย่างสูงและสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ

ก.พาณิชย์ดันสมุนไพร 4 ชนิด  เป็นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ตลาดระดับโลก

ปัจจุบันประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์กว่า 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาด ส่วนด้านการตลาด ปัจจุบันไทยส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ปีละไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสมุนไพรสดมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพรมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสม ในขณะที่ตลาดโลกยอดตัวเลขในอุตสาหกรรมสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 9.18 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ

โดยประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรที่สูง ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าตลาดสมุนไพรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็มีอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากได้เริ่มมีความตะหนักถึงความสำคัญของการใช้สมุนไพรและยาแผนโบราณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดสมุนไพรและยาแผนโบราณในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดสมุนไพรที่มีอัตราการขยายตัวที่มากที่สุด โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเป็นประมาณร้อยละ 9.1 ต่อปี และสำหรับอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในแต่ละประเทศอยู่ที่ระว่างร้อยละ3-12 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่สุดในตลาดสมุนไพร ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560 – 2564 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร โดยมีพืชสมุนไพรเป้าหมาย 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ไพล กระชายดำ และขมิ้นชัน มุ่งแปรรูปเพื่อป้อนในตลาดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าประเภทโภชนาเภสัช ผลิตภัณฑ์ประเภทเวชสำอาง และผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางพร้อมทั้งยกระดับพืชสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ในตลาดระดับโลกอันใกล้นี้

ก.พาณิชย์ดันสมุนไพร 4 ชนิด  เป็นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ตลาดระดับโลก