posttoday

“PTTGC” จุดพลุลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

29 กันยายน 2559

จุดประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาลงทุน

 

รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงปัญหาของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะทรงตัว อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านก็พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลได้มอบหมายให้ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐในการผลักดันนโยบาย จุดประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยได้กำหนด 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศเพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนเข้ามาลงทุน และกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันมากขึ้น โดยออกมาตรการสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในระดับสูง

ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วยการยกระดับ 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ท่องเที่ยวไฮเอนด์และเชิงสุขภาพ เกษตรเทคโนโลยีชีวภาพ และแปรรูปอาหาร กับ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ได้แก่ หุ่นยนต์เพื่อการผลิต การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ ดิจิตอล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

“PTTGC” จุดพลุลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

ขณะที่ภาครัฐกำหนดลงทุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ”Eastern Economics Corridor - EEC” นำร่อง 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อยกระดับจากอีสเทิร์นซีบอร์ด ขึ้นเป็นซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ดที่จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับการพัฒนาและการลงทุนในอนาคตต เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟ พัฒนาอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 อย่างเต็มรูปแบบ ฯลฯคาดว่าเม็ดเงินลงทุนจากรัฐจะไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

สำหรับบทบาทการลงทุนภาคเอกชนแน่นอนว่าคงต้องโฟกัสไปที่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ซึ่งที่ผ่านมานับว่าเป็นผู้บุกเบิกให้เกิดการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดมานานกว่า 3 ทศวรรษ จากยุคโชติช่วงชัชวาลที่มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่าง “ปิโตรเคมี” ที่มีส่วนทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ ฯลฯ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเหล่านี้ ปัจจุบันได้สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 700,000 ล้านบาท จ้างงานเกือบ 50,000 คน และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ คิดเป็น 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)

จากแผนการกลยุทธ์ของ PTTGC ซึ่งมีฐานรากจากเบอร์หนึ่งด้านต่างๆ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์อันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์รวมประมาณ 9.26 ล้านตันต่อปี และกำลังการผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสทรวม 280,000 บาร์เรลต่อวัน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะตอบรับนโยบาย New S Curve นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเพิ่มในหลายโครงการที่มาบตาพุด โดยเตรียมสร้างโรงงานที่มีการลงทุนสูงด้านนวัตกรรม ทำให้เกิดการพัฒนาการผลิต ให้ได้เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษหรือ High Specialty ซึ่งเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกด้วยการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ มีการเตรียมสร้างโรงงานแนฟทาแครกเกอร์ เพื่อผลิตเอทิลีน โพรพิลีน รวมถึงบิวทาไดอีน เพื่อเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ ในอุตสาหกรรมขั้นกลางและขั้นปลายให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายของ New S Curve นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ

นับเป็นเรื่องที่น่าจับตา เมื่อ PTTGC ขานรับนโยบายภาครัฐที่จะทำให้เกิดเม็ดเงินมาลงทุนในประเทศและมองหานวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาพัฒนาธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯ ประสบความสำเร็จขั้นต้นในการดึงนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษชั้นนำของโลกสัญชาติญี่ปุ่นได้แก่ บริษัท คุราเร่ จำกัด และ บริษัทการค้าระหว่างประเทศสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ตัดสินใจ จับมือกับ PTTGC ของไทย ในการร่วมลงนามในข้อตกลงเบื้องต้น (HOA) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางการเงินและการออกแบบทางวิศวกรรม ของโครงการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงประเภท High Heat Resistant Polyamide-9T(PA9T) และผลิตภัณฑ์ยางเทอร์โมพลาสติกประเภท Hydrogenated Styrenic Block Copolymers (HSBC) ในประเทศไทย โดยจะสรุปผลการลงทุนได้ในช่วงสิ้นปี 2560 ซึ่งภายใต้ข้อตกลงจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงปลายปีพ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนลงทุน โครงการ Map Ta Phut Retrofit ของ PTTGC

สำหรับโรงงานแห่งใหม่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด มาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อผลิต PA9T ที่มีคุณสมบัติใช้แทนโลหะเพื่อผลิตรถที่มีน้ำหนักน้อยลงประหยัดพลังงาน กำลังการผลิต 13,000 ตันต่อปี ซึ่งเป็น HSBC ที่ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์และผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค เช่น อุปกรณ์ว่ายน้ำ ซีลยางหน้าต่าง ด้ามแปรงสีฟัน เป็นต้นกำลังการผลิต 16,000 ตันต่อปี นอกจากนี้ คุราเร่ จะดำเนินการศึกษาความเป็นได้ของโครงการผลิต MPD (3-Methyl-1,5-Pentanediol) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ไอโซบิวทีนของคุราเร่ กำลังการผลิต 5,000 ตันต่อปี โดย PTTGCจะเป็นผู้สนับสนุนวัตถุดิบหลักในการผลิตให้กับโรงงาน

ยังไม่รวมความมุ่งมั่นที่ต้องการร่วมผลักดันให้ภาคการเกษตรในประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ด้วยการมุ่งสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ที่มุ่งเน้นวัตถุดิบจากภาคเกษตรกรรม โดยเริ่มต้นผลักดันจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่ง PTTGC มีแผนการที่จะลงทุนในชีวเคมีภัณฑ์ซึ่งจะมีความชัดเจนใน 3 ปีข้างหน้า หากการเดินหน้าสำเร็จลุล่วงด้วยดี นอกจากจะช่วยเกษตรกร ช่วยสิ่งแวดล้อม แล้วจุดประสงค์หลักก็เพื่อมุ่งผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย สร้างงาน อาชีพ และรายได้ให้กับคนไทยนั่นเอง

เห็นได้ว่าแผนการลงทุนของ PTTGC นับเป็นการจุดพลุให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยยังคงเป็นส่วนสำคัญที่จะเอื้อให้ฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆของไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งการหนุนให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน และที่สำคัญจะเป็นการตอบโจทย์โรดแมปรัฐบาลด้วยการก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เราคงต้องช่วยกันลุ้นเพราะนี่คืออนาคตของคนไทยทุกคน