posttoday

ปรับกลยุทธ์องค์กรไทย จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ก้าวสู่ความยั่งยืน

10 พฤษภาคม 2567

SCB EIC ประเมินแนวโน้ม Sustainable supply chain ปัจจัยเร่งให้องค์กรต้องจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ช่วยสร้าง Resilient supply chain เพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร ภาครัฐ และภาคเอกชน

ทำไมต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ?

     การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable procurement คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ ที่นอกจากจะมุ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในด้านการใช้จ่ายเม็ดเงินแล้ว ยังเป็นการให้ความสำคัญกับปัจจัยในการจัดซื้อจัดจ้าง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ เช่น รักษาเสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดการผูกขาด ส่งเสริมการจ้างงาน ลดต้นทุน ลดความเสี่ยง ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SMEs และชุมชนท้องถิ่น

     2) ด้านสังคม เช่น คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาส คำนึงถึงค่าแรง สภาพแวดล้อม และความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน และ 3) ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากร ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

     การผลิตสินค้าที่สอดคล้องกับแนวโน้ม Sustainable supply chain ต้องเริ่มต้นจากการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน นำมาซึ่งแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องคัดเลือกผู้จำหน่ายวัตถุดิบที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงไม่มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม แนวโน้มโลกกำลังมุ่งสู่การเป็น Sustainable supply chain โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง Net zero supply chain หรือห่วงโซ่อุปทานที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆส่งผลให้บริษัทข้ามชาติและผู้ประกอบการรายใหญ่ ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกคู่ค้าที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องมีการปรับกระบวนการผลิต และการประกอบธุรกิจให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม

     นอกจากนี้ สหภาพยุโรป(EU)ได้มีการกำหนดมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Boarder Administrative Management (CBAM) โดยตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้า 5 รายการ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมจะต้องประกาศ และซื้อใบรับรองการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM เพื่อให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้าที่มีการนำเข้ามาใน EU ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ผลิตที่มีการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยัง EU ต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปยังตลาด EU ไว้ได้

    SCB EIC มองว่า ไม่เพียงการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการด้านแรงงาน มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งประเทศต่าง ๆ จะให้ความสำคัญ และหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกีดกันทางการค้ามากขึ้น ขณะที่ไทยยังต้องพึ่งพาภาคการส่งออกเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ไทยยังต้องรักษาบทบาทในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกไว้ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการประกอบธุรกิจในทุกภาคอุตสาหกรรม

      ดังนั้น การที่จะผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศผู้นำเข้า และมีความสอดคล้องไปกับแนวโน้มโลกที่กำลังมุ่งสู่การเป็น Sustainable supply chain เพื่อรักษาบทบาทในการเป็นผู้ส่งออกสินค้าต่างๆไว้ได้นั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นจากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนนำมาซึ่งแรงกดดันให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆต้องปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบรายที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า รวมถึงไม่มีประเด็นความเสี่ยงด้านอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม เมื่อเทียบกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบในสินค้าประเภทเดียวกัน

     ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงยังคาดการณ์และรับมือต่อความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ยากขึ้น โดยการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน จะมีบทบาทช่วยสร้าง Resilient supply chain หรือห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น ที่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ ลดผลกระทบทางด้านลบ และสามารถฟื้นตัวต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ที่ผ่านมาการประกอบธุรกิจเผชิญความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น วิกฤตโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจ ทั้งในรูปแบบของต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น การขนส่งหยุดชะงักทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในการผลิตสินค้า รวมถึงโลกที่แบ่งขั้วมากขึ้นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าการลงทุนของประเทศต่าง ๆ ก่อให้เกิดความผันผวนในการประกอบธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานตามมา

     ทั้งนี้ความเสี่ยงต่างๆดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในหลากหลายอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการอื่นๆในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นผ่านการขึ้นราคาไปยังคู่ค้าจนถึงผู้บริโภค การขาดแคลนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในการผลิตสินค้า อย่างภาวะขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการผลิตรถยนต์ รวมถึงการแบ่งขั้วทางการค้า เช่น สหรัฐอเมริกากับจีน รัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลให้นโยบายการค้าการลงทุนของประเทศต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป นำมาซึ่งการย้ายฐานการผลิตสินค้า รวมถึงเกิดอุปสรรคในการส่งออกสินค้า อย่างการปรับเพิ่มภาษีนำเข้า

     การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนจะมีบทบาทช่วยสร้าง Resilient supply chain เนื่องจากจะส่งเสริมให้เกิดการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ที่จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีภายในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดความร่วมมือในการตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างที่มีการกระจายคำสั่งซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนจากผู้ผลิตหลายราย โดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากผู้ประกอบการ SMEs จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาวัตถุดิบจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดแคลนวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในการผลิตสินค้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้

     Danone เป็นบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนอย่างโดดเด่น จากการเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จึงมีความเกี่ยวข้องกับคู่ค้าเกษตรกรจำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัท Danone ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ มีคู่ค้าโดยตรงที่เป็นเกษตรกรมากกว่า 770 ราย ขณะที่ภาคการเกษตรมีความผันผวนสูงไปตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งด้านปริมาณผลผลิต และด้านราคา ส่งผลให้บริษัท Danone ให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน เพื่อลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร ในรูปแบบการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัท Danone และคู่ค้าเกษตรกร โดยได้ดำเนินการจัดซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในระบบ Cost-plus หรือการตั้งราคาบวกจากต้นทุน เพื่อรักษาอัตรากำไรให้กับคู่ค้าเกษตรกร มีการทำสัญญาสั่งซื้อผลผลิตระยะยาว รวมถึงยังดำเนินการโครงการ Regenerative Agriculture Program ร่วมกับคู่ค้าเกษตรกร เพื่อลดผลกระทบของการทำการเกษตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคู่ค้าเกษตรกร ไปจนถึงสวัสดิภาพของสัตว์ โดยในส่วนของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคู่ค้าเกษตรกรนั้น บริษัท Danone มีการเก็บข้อมูลความยืดหยุ่นทางการเงิน การดำรงชีวิต และความสามารถของคู่ค้าเกษตรกรในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินการโครงการ Regenerative Agriculture Program

     ในช่วงการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 บริษัท Danone ได้ดำเนินการร่วมกับคู่ค้าเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เช่น การประชุมหารือรายสัปดาห์ การจัดทำลิสต์รายการข้อควรระวังท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ประกอบกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัท Danone ไม่ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร และโรงงานที่ผลิตอาหารเกือบทั้งหมดยังคงดำเนินการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเพียงโรงงานเดียวที่หยุดดำเนินการผลิต เนื่องจากเป็นโรงงานที่ผลิตอาหารเพื่อป้อนสู่ร้านอาหาร และอุตสาหกรรม Foodservice สะท้อนถึงความสำคัญของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัท Danone และคู่ค้าเกษตรกร ที่จะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีภายในห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้สามารถรับมือต่อความผันผวนของภาคการเกษตร รวมถึงสามารถบริหารจัดการการผลิตในช่วงวิกฤตโรคระบาดได้เป็นอย่างดี

     นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนจะช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างภายในองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งสร้างความโปร่งใส ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการบริหารจัดการที่ดี โดยการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนของภาครัฐจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน ทั้งต่างประเทศ และในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศตามมา ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนของภาคเอกชนจะนำมาสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า ไปจนถึงลูกค้า รวมถึงเกิดการสร้างนวัตกรรม ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่อุปทานได้

การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนในไทยมีความคืบหน้าอย่างไร ?

     United Nations Environment Programme (UNEP) ได้ให้คำจำกัดความของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนไว้ว่าเป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า บริการ การปฏิบัติงาน และสาธารณูปโภคต่างๆของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งตอบสนองความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้างที่บรรลุเป้าหมายด้านความคุ้มค่าต่อเม็ดเงินตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ ทั้งในด้านการสร้างผลประโยชน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐเอง รวมถึงในด้านการสร้างผลประโยชน์ต่อสังคม และระบบเศรษฐกิจอีกด้วย ขณะที่ยังเป็นการลดความเสียหาย หรือหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนจะต้องเป็นการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถบรรลุเป้าหมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน 

     UNEP ได้กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายย่อยข้อที่ 12.7ของ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่มุ่งสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มีความยั่งยืน สอดคล้องตามนโยบาย และการจัดลำดับความสำคัญของแต่ละประเทศ ซึ่งมีจำนวนประเทศที่มีการดำเนินการตามนโยบาย และแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนเป็นตัวชี้วัด โดยมีการจัดระดับการดำเนินการตามนโยบายจากระดับต่ำ ระดับต่ำ-ปานกลาง ระดับปานกลาง-สูง และระดับสูง ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แก่ 1) มีนโยบาย และแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืน 2) กรอบกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเอื้ออำนวยต่อการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน 3) มีวิธีดำเนินการสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานภาครัฐในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน 4) มีการพัฒนาเกณฑ์ มาตรฐาน หรือข้อกำหนดในการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นมาโดยเฉพาะ 5) มีการติดตามการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และ 6) สัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่มีความยั่งยืน

     ทั้งนี้ในปี 2022 มีจำนวนประเทศที่รายงานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนให้กับ UNEP รวม 67 ประเทศ ในจำนวนนี้ มีประเทศที่มีการดำเนินการตามนโยบาย และแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนจำนวนรวม 49 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากในปี 2020 ที่มีจำนวนรวม 33 ประเทศ ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวที่ถูกจัดเป็นประเทศที่มีการดำเนินการตามนโยบายในระดับสูง โดยเมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่า จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ได้มีการดำเนินการตามนโยบาย และแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนแล้ว

ปรับกลยุทธ์องค์กรไทย จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ก้าวสู่ความยั่งยืน

     สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ได้มีการให้คำมั่นสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐในเวที COP 28 จากผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (The 28th meeting of the Conference of the Parties : COP 28) ได้มีการระบุผลความคืบหน้าในการดำเนินการที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมกลุ่ม Heavy Emitting Sectors (HES)  ซึ่งการประชุมใน COP 28 นี้ นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการระบุให้คำมั่นสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ (Green public procurement) ต่อ The Clean Energy Ministerial Industrial Deep Decarbonization Initiative (IDDI) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนระดับโลก ในการกระตุ้นอุปสงค์การใช้วัสดุอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำภายใต้ United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) โดยคำมั่นสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐนี้ มีการกำหนดกรอบระยะเวลา และครอบคลุมถึงการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ และคอนกรีตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับต่ำ 

     ทั้งนี้ UNIDO IDDI ได้ระบุรายชื่อประเทศที่เข้าร่วมการให้คำมั่นสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐเข้ามา 4 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งมีการเผยแพร่ Blueprint for accounting standards สะท้อนการส่งสัญญาณว่า 4 ประเทศดังกล่าวจะมีการกำหนดนโยบาย เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม Heavy emitting sectors ในระยะยาว ทั้งทางด้านอุปทานและอุปสงค์ จากผู้ผลิตสินค้า ผู้ซื้อสินค้า และภาคการเงิน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้ากลุ่มดังกล่าว ไปจนถึงนโยบายการสร้างอุปสงค์ในการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวในการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจูงใจให้เกิดการลงทุนระยะยาวในประเทศจากภาคเอกชน

     ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียว โดยภาครัฐกำหนดเป้าหมายสัดส่วนมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลสำรวจจาก 2022 Sustainable Public Procurement Global Review ระบุว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียว ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ มีการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมควบคู่กันไป

ที่มา : 2022 Sustainable Public Procurement Global Review โดย UNEP
      ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างในด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐไทย อยู่ในรูปแบบของการกำหนดเกณฑ์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงคู่มือการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 ได้กำหนดเป้าหมายสัดส่วนมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐในปี 2024 อยู่ที่ 60% ของมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการประเภทเดียวกัน และได้กำหนดให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นไปสู่ 80% ในปี 2027 

     โดยเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1) สินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 หรือขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานให้การรับรอง ซึ่งดำเนินการตรวจรับรองโดยบุคคลที่ 3 ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย 2) สินค้าและบริการที่ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ของกรมควบคุมมลพิษ และ 3) ฉลากทางเลือกสิ่งแวดล้อม

ปรับกลยุทธ์องค์กรไทย จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ก้าวสู่ความยั่งยืน

     ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากราว 7-9 แสนล้านบาทในช่วงปี 2016-2018 หรือคิดเป็นสัดส่วน 5-6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ มาสู่มูลค่าราว 1.1-1.3 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2019-2023 หรือคิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ดังนั้น การขับเคลื่อนให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ไม่เพียงแต่การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมเพิ่มเติมด้วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องแก่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นไปได้อย่างเต็มศักยภาพ

ปรับกลยุทธ์องค์กรไทย จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ก้าวสู่ความยั่งยืน

การจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนอย่างยั่งยืนในไทยเป็นอย่างไร ?

     การจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนอย่างยั่งยืน อยู่ในรูปแบบ Sustainable supply chain management กล่าวคือ เป็นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่นอกจากจะพิจารณาปัจจัยด้านราคาแล้ว ยังครอบคลุมการให้ความสำคัญกับการจัดการผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตของสินค้าและบริการ ทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ International Organization for Standardization (ISO) ได้มีการกำหนดมาตรฐานแนวทางการจัดซื้ออย่างยั่งยืน หรือ ISO 20400 มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นแนวทางการให้คำแนะนำสำหรับองค์กรที่มีความต้องการผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนไปในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านกระบวนการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมีการส่งเสริมให้คู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการดำเนินการในกระบวนการเดียวกัน ภายใต้แกนหลัก 7 ด้าน ได้แก่ 1) การกำกับดูแลองค์กร 2) สิทธิมนุษยชน     3) แนวปฏิบัติด้านแรงงาน 4) สิ่งแวดล้อม 5) การปฏิบัติงานที่เป็นธรรม 6) ประเด็นเกี่ยวกับผู้บริโภค และ7) การมีส่วนร่วมและการพัฒนาของชุมชน

     นอกจากนี้ อีกหนึ่งแนวคิดในการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน อย่าง ESG ก็ได้รับความนิยมในการนำมาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจที่คำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ 

     1) Environment คือ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับสูงในกระบวนการผลิต ลดการปล่อยฝุ่น เสียง น้ำเสีย และของเสีย 2) Social คือ การลดผลกระทบด้านสังคม เช่น จัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสมแก่แรงงาน ป้องกันการเกิดอันตรายสำหรับแรงงาน จ่ายค่าจ้างแรงงานพื้นฐานอย่างเหมาะสม ป้องกันไม่ให้เกิดข้อพิพาทกับชุมชนท้องถิ่น และ 3) Governance คือ การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล เช่น บริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและภาวะวิกฤต มีความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยปัจจุบัน ภาคเอกชนในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับการนำ ESG มาใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการประกอบธุรกิจ ส่งผลให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการประกอบธุรกิจ จำเป็นต้องมีความสอดคล้องไปกับทุกองค์ประกอบของ ESG ตามไปด้วย กล่าวคือ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่คำนึงถึงการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การลดผลกระทบด้านสังคม และการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล

     การจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนอย่างยั่งยืนในไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นการดำเนินการเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการในรูปแบบของการกำหนดนโยบาย และแผนการปฏิบัติงาน เช่น นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ (Supplier code of conduct) ที่ครอบคลุมปัจจัยต่าง ๆ ที่สำคัญต่อการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้ประกอบการได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนการดำเนินงาน กระบวนการดำเนินงาน ตัวชี้วัด การประเมินผล ไปจนถึงการเปิดเผยข้อมูลจากการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายงานความยั่งยืนแบบบูรณาการ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการทบทวนนโยบายปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้เกิดความสอดคล้องไปกับบริบทการจัดซื้อจัดจ้างที่เปลี่ยนแปลงไป

ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

     สำหรับกระบวนการคัดเลือกคู่ค้านั้น จากเดิมผู้ประกอบการรายใหญ่ให้ความสำคัญกับการกำหนดเกณฑ์ด้านความสามารถของคู่ค้าในการส่งมอบสินค้าและบริการ เกณฑ์ด้านคุณภาพ คุณสมบัติ และความปลอดภัยของสินค้าและบริการ รวมถึงเกณฑ์ด้านความสามารถในบริหารต้นทุนของคู่ค้าเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบัน พบว่าผู้ประกอบการได้หันมาให้ความสำคัญกับการกำหนดเกณฑ์ด้านความยั่งยืนของคู่ค้าเพิ่มเติม โดยมีการนำเกณฑ์ด้านความยั่งยืนมาพิจารณาในกระบวนการคัดเลือกคู่ค้า รวมถึงมีการตรวจประเมิน การติดตามผลการดำเนินงาน ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพด้านความยั่งยืนร่วมกันกับคู่ค้า สะท้อนความก้าวหน้าที่ชัดเจนในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการรายใหญ่

ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และภาคเอกชน มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ?

     ในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องขยับเป้าหมายการสร้างความยั่งยืน ไปสู่การจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมการให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมเพิ่มเติม โดย SCB EIC มองว่า หน่วยงานภาครัฐอาจดำเนินการตาม Sustainable Public Procurement Approach (SPP Approach) ที่ UNEP ได้พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศที่ต้องการขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์ ศึกษากรอบกฎหมาย ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหารือแนวทางในการสร้างคำมั่นสัญญา และนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกัน รวมถึงกำหนดเป้าหมาย แผนการปฏิบัติ กรอบระยะเวลา บทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่าง ๆ และงบประมาณ ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติ และปรับปรุงการดำเนินการให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับแก้กฎหมาย การกำหนดประเภทสินค้าและบริการ การกำหนดเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง การสร้างขีดความสามารถ และกลยุทธ์การสื่อสาร ไปจนถึงการสร้างระบบการตรวจสอบ และการประเมินผล

     ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้มีการกำหนดเกณฑ์สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงกำหนดเป้าหมายสัดส่วนมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว อย่างไรก็ดี ภาครัฐอาจดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมการให้ความสำคัญกับด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมเพิ่มเติม โดยกำหนดให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคมเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้อาจเริ่มต้นจากการคัดเลือกกิจกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่มีมูลค่าในระดับสูงมาดำเนินการก่อน แล้วจึงขยายให้ครอบคลุมกิจกรรมในวงกว้างยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาแนวทางการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐของประเทศในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ที่ได้มีการดำเนินการตามนโยบาย และแผนปฏิบัติการการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนแล้ว โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบทของไทย

     สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชน ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจพิจารณากำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดเพิ่มเติมในหลากหลายมิติมากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่มีการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดด้านจำนวนคู่ค้าเป็นหลัก เช่น จำนวนคู่ค้าที่ได้ลงนามรับทราบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าธุรกิจ จำนวนคู่ค้าที่ได้รับการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG จำนวนคู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการหรือการอบรมด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจพิจารณากำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดในมิติอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3  ที่มาจากคู่ค้าที่มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการจัดซื้อจัดจ้างจากคู่ค้าในท้องถิ่น หรือผู้ประกอบการ SMEs อย่างการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น ระดับรายได้ที่เพิ่มขึ้นของแรงงานในพื้นที่ เพื่อยกระดับการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมในหลากหลายมิติมากขึ้น

     อีกทั้ง จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน จากที่ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่มีการกำหนดนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400 ในไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งนี้ SCB EIC มองว่า การสร้างอุปสงค์แก่สินค้าและบริการที่มีความยั่งยืนจากภาครัฐ ผ่านการกำหนดเกณฑ์การเข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่มีข้อกำหนดด้านความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ผลิตสินค้า และผู้ให้บริการ ที่เป็นธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ มีแรงจูงใจในการมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงปรับกระบวนการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในการเข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการ SMEs มีการปรับตัวตอบโจทย์ไปกับเทรนด์ของโลกที่ต่างมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ

     อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในประเด็นที่ผู้ประกอบการยังไม่เห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์ของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ตลอดจนยังมีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ขาดเงินทุน ขาดองค์ความรู้ โดยแนวทางในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มดำเนินการได้ อาจอยู่ในรูปแบบของการจัดทำแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเป็นกรอบการดำเนินการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs การให้แต้มต่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนในการเข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อสร้างขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถดำเนินการเพื่อให้ได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400 ได้ในวงกว้าง ไปจนถึงมาตรการทางภาษี อย่างการนำค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงค่าใช้จ่ายการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน ISO 20400 ไปใช้ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้

เทคโนโลยีมีบทบาทสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนอย่างไร ?

     E-procurement เป็นเครื่องมือที่สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น Electronics procurement (E-procurement) คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่วางแผนสั่งซื้อ กำหนดงบประมาณ คัดเลือกคู่ค้า ดำเนินการสั่งซื้อ ชำระเงิน รับมอบสินค้าและบริการ ตรวจสอบ ไปจนถึงติดตามสินค้าคงคลัง โดย E-procurement ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการในจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งสามารถควบคุมงบประมาณ มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ลดข้อผิดพลาด สร้างความโปร่งใส สามารถติดตามการดำเนินการได้ทุกขั้นตอนแบบ Real time รวมถึงยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ลง ทั้งบุคลากร พลังงาน และเอกสารกระดาษ ทั้งนี้ E-procurement เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งการช่วยลดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ลง ซึ่งจะตอบโจทย์การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความโปร่งใส ซึ่งจะตอบโจทย์การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรต่าง ๆ ยังสามารถใช้ประโยชน์จาก E-procurement ในการเข้าถึงข้อมูลการดำเนินการด้านความยั่งยืนของคู่ค้า รวมถึงการติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้างอีกด้วย

     ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานการประกอบธุรกิจซับซ้อน และมีความเกี่ยวข้องกับคู่ค้าจำนวนมาก อาจพิจารณานำเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) มาสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมาก รวมถึงช่วยคาดการณ์สถานการณ์และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เช่น การติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน การประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ของคู่ค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจนำระบบอัตโนมัติ อย่าง Robotic Process Automation (RPA) มาช่วยเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนที่เป็นขั้นตอนซ้ำ ๆ กัน ให้เป็นระบบอัตโนมัติ อีกทั้ง อาจนำเทคโนโลยีด้าน Supply chain traceability มาช่วยตรวจสอบการดำเนินการตามมาตรฐานด้านความยั่งยืน และการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมของคู่ค้าอีกด้วย

     ส่วนของผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มีการใช้ E-procurement มากขึ้น ผ่านการสนับสนุนเงินทุน และองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการใช้ E-procurement อยู่แล้วได้ ทั้งนี้การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และมีการใช้ E-procurement มากขึ้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง และสร้าง Resilient supply chain เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้ประกอบการ SMEs เท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทข้ามชาติ และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มุ่งสู่การเป็น Sustainable supply chain และหันมาให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการ SMEs เพื่อสร้างความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจอีกด้วย ที่จะนำมาซึ่งการขยายโอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดโลกได้อีกมากในระยะข้างหน้า

 

บทวิเคราะห์โดย https://www.scbeic.com/th/detail/product/sustainable-supply-chain

ผู้เขียน : กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ นักวิเคราะห์อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)