posttoday

เป๊ปซี่โค เปิดรายชื่อ 10 สตาร์ทอัพ เข้ารอบนวัตกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม หนุน ESG

09 พฤษภาคม 2567

เป๊ปซี่โค ประกาศ สตาร์ทอัพ 10 ราย เข้ารอบสุดท้าย นวัตกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม โครงการ Greenhouse Accelerator ครั้งที่ 2 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยผู้เข้ารอบในปีนี้มาจากออสเตรเลีย จีน เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์

การคัดเลือกผู้เข้ารอบสุดท้ายแต่ละรายดูจากแนวทางที่แปลกใหม่ในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งเป็นเกณฑ์หลักภายใต้เป้าหมาย pep+ เพื่อการทำทรานส์ฟอร์เมชันของเป๊ปซี่โค (PepsiCO Positive) โครงการนี้เน้นย้ำปณิธานของเป๊ปซี่โคที่มีต่อระบบอาหารในยุคหน้าเพื่อความรุ่งเรืองของผู้คนและโลกไปพร้อมกัน

สำหรับ ปี 2567 เป๊ปซี่โคได้ขยายโครงการ Greenhouse Accelerator ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ครอบคลุมหัวข้อใหม่ที่สำคัญอย่างเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญในระบบอาหารของเรา ดังนั้น เป๊ปซี่โคจึงเฟ้นหาสตาร์ทอัพผู้บุกเบิกในภาคส่วนนี้ให้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 2 ราย โดยแต่ละรายล้วนมีแนวทางอันทันสมัยในด้านการทำสวนทำไร่อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ เป๊ปซี่โคยังได้ขยายขอบเขตของโครงการให้ครอบคลุมยิ่งยึ้นด้วยการจับมือกับพันธมิตรใหม่ซึ่งเป็นผู้บรรจุขวดอย่างซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม โดยทั้งสองบริษัทมีความตั้งใจอันแรงกล้าในการสร้างสิ่งดีๆ ต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของตนเองในทุกส่วน ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นการผสานความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาคและครอบคลุมผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย เพื่อขยายผลลัพธ์จากความร่วมมือให้ก่อเกิดประโยชน์ในวงกว้าง
 
ทั้งนี้ Greenhouse Accelerator ตั้งเป้าหมายในการกระตุ้นให้สตาร์ทอัพเหล่านี้เติบโตและเสริมสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างมีความหมาย บรรดาผู้เข้ารอบสุดท้ายถือเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการที่มากความสามารถหลากหลายด้าน ในเอเชียแปซิฟิก และช่วยสานภารกิจของเป๊ปซี่โคในการเฟ้นหาโซลูชันด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายและมีศักยภาพ
โดยพันธกิจหลักของเป๊ปซี่โคก็คือ การบูรณาการแนวทางที่ทันสมัยเหล่านี้ไว้ในห่วงโซ่คุณค่าทั่วโลกของบริษัท เพื่อต่อยอดความมุ่งมั่นที่จะยกระดับรอยเท้านิเวศ (Ecological footprint) ให้ดียิ่งขึ้น

โดยภายในปี 2568 เป๊ปซี่โคตั้งใจที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดรีไซเคิลได้ สลายตัวได้ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ หรือใช้ซ้ำได้ พร้อมด้วยเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2573

อย่างไรก็ตาม โครงการ Greenhouse Accelerator ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เกื้อหนุนและเชื่อมโยงผู้เข้ารอบสุดท้ายให้เข้าถึงเครือข่ายที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และทรัพยากรต่างๆ อันนับไม่ถ้วนของเป๊ปซี่โค กรอบการทำงานดังกล่าวออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนา ร่นระยะเวลาเข้าสู่ตลาด และเพิ่มศักยภาพในการขยับขยายโซลูชันให้ครอบคลุมการใช้งานในวงกว้าง

นายเหวิน หยวน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของเป๊ปซี่โค เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ในโครงการ Greenhouse Accelerator ปี 2567 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตื่นเต้นที่ได้เห็นนวัตกรรมต่างๆ จากบริษัทเหล่านี้ โซลูชันที่ล้ำหน้าเหล่านี้ จะช่วยจัดการกับปัญหาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เกษตรกรรมยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสำคัญกับวาระ pep+ ของเรา เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือเหล่านี้จะทำให้ทุกอย่างรุดหน้าได้รวดเร็ว โดยในปีนี้ความร่วมมือระหว่างเรากับผู้บรรจุขวดทำให้เราสามารถขยายการทดลองโซลูชันที่ทันสมัยเหล่านี้ออกไปได้ในวงกว้างยิ่งกว่าเดิม

ที่ผ่านมามี 7 โครงการจากปี 2566 ในเอเชียแปซิฟิกที่ได้ทดลองดำเนินการในเครือข่ายบริษัทของเป๊ปซี่โค ทำให้ผู้เข้ารอบสุดท้ายดังกล่าวเติบโต 110% และมียอดขายเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

10 สตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหาร-เครื่องดื่ม ด้าน ESG

สำหรับผู้เข้ารอบสุดท้ายในโครงการ Greenhouse Accelerator ปี 2567 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ดังนี้

●    AllEV ประเทศไทย-เป็นบริษัทที่พลิกโฉมการคมนาคมในประเทศไทย มีเป้าหมายในการช่วยให้ธุรกิจในไทยบรรลุความยั่งยืนและประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยโมเดล บริการแบบสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่สำหรับการดัดแปลงรถยนต์เก่าให้เป็นระบบไฟฟ้า ช่วยยืดอายุยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมให้ยาวนานยิ่งขึ้น

●    CIRAC ประเทศไทย-เทคโนโลยียุคใหม่ที่จะช่วยในการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลยากที่สุดเป็นอันดับต้นๆนั่นก็คือบรรจุภัณฑ์พลาสติกเคลือบอะลูมิเนียม เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยเปลี่ยนพลาสติกเคลือบอะลูมิเนียมให้กลายเป็นอะลูมิเนียมและน้ำมันชนิดหนักที่ยั่งยืน

●    Alternō ประเทศเวียดนาม-โซลูชันช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการเกษตรอุตสาหกรรม และความร้อนในบ้านเรือน โดยก่อตั้งขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ที่จะสร้างโซลูชันการกักเก็บพลังงานความพร้อมต้นทุนต่ำแห่งแรกของเอเชียเพื่อสร้างพลังงานหมุนเวียนและตั้งเป้าที่จะขยายการใช้งานออกไปทั่วภูมิภาคภายในปี 2593

●    Grac ประเทศเวียดนาม-โซลูชันการจัดการขยะและการรีไซเคิลในราคาย่อมเยาแก่รัฐบาลท้องถิ่นตลอดจนธุรกิจที่กำลังมองหาทางเลือกด้านความยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม โดย Grac ออกแบบมาภายใต้โมเดลการจัดการขยะที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับเวียดนามและประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างบทบาทสำคัญในการลดปริมาณขยะ การคัดแยกขยะที่ต้นทาง การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

●    Mi Terro ประเทศจีน-คิดค้นวิธีเปลี่ยนขยะชีวมวลมูลค่าต่ำให้กลายเป็นวัสดุชีวภาพไฮโดรฟิลิกและไฮโดรโฟบิกมูลค่าสูงเพื่อขจัดปัญหาเรื่องไมโครพลาสติกและความอดอยาก โดยมีต้นทุนที่ถูกกว่าพลาสติกแบบเดิม บริษัทได้มีการคัดสรรพอลิเมอร์ชีวภาพและเส้นใยธรรมชาติ โดยตั้งเป้าที่จะใช้วัตถุดิบจากการเกษตร (วัตถุดิบตั้งต้นที่ไม่ใช่อาหาร) และมวลชีวภาพที่ผ่านการรับรองให้มากที่สุด

●    Takachar ประเทศฟิลิปปินส์-ช่วยให้ชุมชนเปลี่ยนเศษพืชผลและเศษไม้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชีวผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ปล่อยคาร์บอนติดลบ เช่น ปุ๋ย สารเคมี เชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอยู่ในรูปแบบที่มีขนาดเล็ก กระจายศูนย์และพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอา กาศโซลูชันดังกล่าวมีลักษณะที่เคลื่อนย้ายได้และต้นทุนต่ำ ยึดไว้กับด้านหลังรถแทรกเตอร์หรือรถกระบะได้สะดวก ทำให้ใช้งานได้แม้อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ช่วยสร้างเศรษฐกิจชีวภาพที่พอเพียงในชนบท ป้องกันการก่อมลพิษทางอากาศ และลดคาร์บอนฟุตพรินต์ที่เกิดจากการเผามวลชีวภาพในที่โล่ง

●    ELIoT Energy ประเทศออสเตรเลีย-มุ่งมั่นในการลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (ประเภทที่ 3) ด้วยอุปกรณ์กักเก็บพลังงานเพื่อจ่ายไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้สูง เพื่อปรับปรุงการใช้พลังงานสีเขียวของตู้แช่เย็น ณ จุดจำหน่ายสินค้า แบตเตอรี่ที่มีลักษณะถอดเข้าออกได้สะดวกของ ELIoT ช่วยพลิกโฉมการใช้พลังงานของระบบแช่เย็นให้ทันสมัยขึ้นไปอีกขั้น เพราะ ELIoT Energy เชื่อว่าความเย็นทุกวินาทีเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเพื่ออนาคตสีเขียวที่สดใส

●    Wildfire Energy ประเทศออสเตรเลีย-บริษัทสัญชาติออสเตรเลียที่คิดค้นเทคโนโลยีกระบวนการแปรสภาพเป็นแก๊สนวัตกรรมใหม่เพื่อใช้สร้างพลังงานจากวัสดุชีวมวลและขยะ กระบวนการแบบใหม่ที่เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของ Wildfire ทำให้การเปลี่ยนมวลชีวภาพและขยะด้อยมูลค่าให้กลายเป็นซินแก๊สคุณภาพสูงมีต้นทุนที่ต่ำลง โดยนำไปใช้ได้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เชื้อเพลิง และสารเคมี

●    X-Centric ประเทศออสเตรเลีย-คิดค้นเครื่องมือทดสอบดินที่มีประสิทธิภาพสูง โดยทดสอบลักษณะดินได้อย่างแม่นยำ ถูกต้อง และมีค่าใช้จ่ายต่ำ คุณสมบัติของอุปกรณ์ดังกล่าวเสมือนเป็นการเอ็กซเรย์เพื่อประเมินสุขภาพดิน โดยทั้งอุปกรณ์และแอปมือถือตลอดจนแดชบอร์ดรายงานผลของ X-Centric ทำงานร่วมกันเป็นโซลูชันหนึ่งเดียวที่ตอบโจทย์การทดสอบลักษณะดินได้อย่างครบถ้วน

●    Captivate Technology ประเทศนิวซีแลนด์-เทคโนโลยี MUF-16 ของ Captivate เป็นนวัตกรรมใหม่ด้านการจับคาร์บอนตัวดูดซับที่มีสถานะของแข็งได้รับการคัดสรรมาว่าทำงานได้อย่างเสถียรโดยสูญเสียพลังงานต่ำ วัสดุ MUF-16 ที่ได้รับสิทธิบัตรของ Captivate ช่วยลดรายจ่ายการลงทุนและรายจ่ายการดำเนินงานได้เพราะแยกชุดจับคาร์บอนเป็นแบบโมดูลตอบโจทย์ทั้งทางเทคนิคและทางการเงิน ให้ประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ