posttoday

สสว. เผย ภาระหนี้สิน SME ไตรมาส 1/2567 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 63.9

29 เมษายน 2567

ภาระหนี้เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 500,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท แนวโน้มการกู้เงินผ่านบัตรเครดิต/บัตรเงินสดเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ SME มีภาระหนี้แบกรับปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 12

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลสำรวจสถานการณ์ด้านหนี้สินกิจการของ SME ไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจข้อมูลรายไตรมาสต่อเนื่อง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 นี้สอบถามผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,738 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16–25 มีนาคม 2567 พบว่า ผู้ประกอบการ SME มีภาระหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 63.9 ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการค้าและภาคการผลิต สำหรับวัตถุประสงค์การกู้ยืมเงินของ SME ร้อยละ 91.8 จะนำเงินไปใช้หมุนเวียนในกิจการ รองลงมาคือร้อยละ 5.7 จะนำไปใช้ลงทุนในกิจการเพื่อขยายธุรกิจ/สาขา ซื้ออุปกรณ์/เครื่องจักร และร้อยละ 2.5 นำไปชำระหนี้สินเดิม

เมื่อพิจารณาขนาดของธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ที่มีภาระหนี้สิน พบว่า ธุรกิจขนาดกลาง (Medium) มีสัดส่วนการกู้ยืมเงินในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหาภาระการจ่ายคืนเงินกู้เนื่องจากกู้เงินด้วยวงเงินกู้มากกว่า 1,000,000 บาทขึ้นไป ทำให้ในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้นจึงมีภาระต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงมีแนวโน้มที่ธุรกิจขนาดกลางเริ่มใช้บริการเงินทุนนอกระบบสูงขึ้นถึงร้อยละ 17 ส่วนใหญ่เป็นการกู้จากเพื่อน/ญาติพี่น้องเป็นหลัก ยังไม่พบจากแหล่งนายทุนเงินกู้ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ขณะที่ธุรกิจรายย่อย (Micro) มีสัดส่วนการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินทุนนอกระบบเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่มาจากเพื่อน/ญาติพี่น้อง และนายทุนเงินกู้ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะเผชิญกับปัญหาแนวโน้มการผิดนัดชำระเงินค่อนข้างมาก เนื่องจากปัญหารายได้น้อยกว่ารายจ่าย จึงส่งผลต่อสภาพคล่องในการชำระหนี้ ส่วนธุรกิจขนาดย่อม (Small) มีการกู้ยืมเงินในระบบแต่มีสัดส่วนการใช้เงินผ่านบัตรเครดิต/บัตรเงินสดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน และยังเผชิญกับปัญหาการชำระหนี้ต่อเนื่อง

สสว. เผย ภาระหนี้สิน SME ไตรมาส 1/2567 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 63.9

นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าเฉลี่ยภาระหนี้สินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ระดับไม่เกิน 500,000 บาท ในไตรมาสนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 1,000,000 บาท ซึ่งพบการขยายตัวในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อมและบางส่วนของกลุ่มรายย่อย อย่างไรก็ดี แม้ว่าผู้ประกอบการ SME ทุกขนาดกิจการจะมีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีแผนกู้ยืมเงินในอนาคตเพราะต้องการนำมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ปรับปรุงสถานประกอบการ ลงทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ใหม่ เป็นต้น

ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 46.0 มองว่า อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่ SME รับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่าน ๆ มาเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 8 เป็นเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 12 ซึ่งอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อเนื่องรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อ รองลงมาคือ ขั้นตอนการกู้ที่ยุ่งยาก การอนุมัติล่าช้า และการขาดความรู้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือมากที่สุดคือ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รองลงมาคือ การมีสินเชื่อในรูปแบบที่สอดคล้องสำหรับธุรกิจรายเล็ก การลดขั้นตอนและเอกสารในการยื่นขอสินเชื่อ รวมถึงมาตรการพักชำระหนี้และงดหรือยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียม/ดอกเบี้ยการผิดนัดชำระหนี้ในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่ไม่มีหนี้สิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจรายย่อย (Micro) เช่น สาขาร้านอาหาร/ภัตตาคาร สาขาผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอ กลุ่มซ่อมบำรุงเสื้อผ้า และผลิตเสื้อพื้นเมือง สาขาค้าส่งสินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นต้น จะมีแหล่งเงินทุนมาจากการขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นและทรัพย์สินส่วนตัว อย่างไรก็ตามบางส่วนของ SME กลุ่มนี้ มีแผนกู้ยืมเงินในอนาคตเพื่อใช้ลงทุนในกิจการแต่กลับเผชิญปัญหาด้านขาดหลักทรัพย์ในการยื่นกู้ ดังนั้นจึงต้องการให้มีสินเชื่อที่เอื้อต่อธุรกิจรายเล็กและกลุ่มลูกหนี้ใหม่ เนื่องจากขาดประวัติด้านเครดิตหรือการกู้ยืมมา

สสว. เผย ภาระหนี้สิน SME ไตรมาส 1/2567 พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องถึงร้อยละ 63.9

ทั้งนี้ SME สามารถเข้าค้นหาบริการหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนหรือสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการในการประกอบธุรกิจของท่านได้ที่ https://www.smeone.info/ หรือสอบถามข้อมูลผ่านศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร 1301