posttoday

เอกชนและรัฐเล็งสู่ธุรกิจสีเขียวชูเทคโนโลยีการดักจับ-กักเก็บคาร์บอน

29 มีนาคม 2567

เอกชนและรัฐแชร์แนวคิดพร้อมเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว เน้นเทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน ด้านมหาวิทยาลัยมุ่งผลิตคนป้อนรับโหมดกรีน และช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อสีเขียวมากขึ้น

ในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 19 หรือ (NAC2024: NSTDA Annual Conference 2024) ภายใต้หัวข้อ “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วย BCG Implementation” โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นั้น

พิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยมุมมองต่อหัวข้อ “แนวโน้มเทคโนโลยีพลังงานและการกักเก็บเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน” ว่า แม้จะไม่สามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดได้ทันที แต่จำเป็นต้องเปลี่ยน โดยประเทศไทยแม้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพแต่ก็ยังเติบโต และผลิตโซลาร์ได้

ขณะนี้ หลังเศรษฐกิจโลกก้าวสู่ Green Economy Transition ปลายปี 2023 พบว่าเศรษฐกิจเวียดนามแซงมาเลเซีย และปีนี้จะแซงฟิลิปปินส์ และไทยต้องคว้าโอกาสจาก Green Economy Transition จึงต้องปรับตัวทั้งซับพลายไซด์และดีมานด์ไซด์

โดยธนาคารกสิกรไทยได้ปรับตัวมาล่วงหน้า ในการลดคาร์บอน และสามารถเป็นกลางทางคาร์บอนล่วงหน้ามา 6 ปีแล้ว เช่นเดียวกับมีการทำ Green Bond และ Green Loan หรือสินเชื่อสีเขียว รวมถึงจะทำ Climate Solution เพื่อปรับเปลี่ยนให้ลูกค้า และพร้อมปล่อยสินเชื่อให้ด้วย

สมิทธิพร เศรษฐปราโมทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะถูกลงกว่ารถยนต์สันดาป แต่สถานีชาร์จอาจจะยังไม่เพียงพอ และยังไม่สะดวก แต่ถ้าระบบนิเวศมีความพร้อมมากขึ้นก็จะโตได้เร็ว ดังเช่นในจีนเมื่อมีการสร้างคอนโดจะมีจุดชาร์จรถ EV ให้ทุกคัน

สำหรับบ้านปู เน็กซ์ ได้ลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นมานาน และลงทุนเรื่องเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความจำเป็นเพราะเป็นยุคที่จะไม่จัดการคาร์บอนไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนพลังงานแก๊สในสหรัฐฯ ซึ่งมีการปล่อยคาร์บอน 

ดังนั้นทางบริษัทก็ต้องปรับตัวและลงทุนเรื่อง CCUS แต่สหรัฐมีการอุดหนุนด้านนี้ 85 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งถ้ามีการอุดหนุนจากรัฐก็สามารถทำได้ หากไม่มีการกักเก็บกฎหมายบังคับต้องจ่ายค่าปรับ เช่น สิงคโปร์ก็มีกฎหมายที่มีการปรับจากผู้ปล่อย 

สมิทธิพร ยังระบุอีกว่า เรื่องความรู้ของกำลังคนมีความจำเป็นต่อธุรกิจด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่อง Data Center และ AI โดยเฉพาะ Data Center ที่ใช้พลังงานมาหาศาล ทำให้หลายประเทศจะไม่สร้าง Data Center เพิ่ม เช่น สิงคโปร์ แต่จะปรับเป็น Green Data Center โดยใช้พลังงานสะอาดหรือมีการกักเก็บคาร์บอน ทั้งหมดนี้ต้องสร้างคนเพื่อรองรับ ส่วน AI บริษัทที่มีมูลค่าสูงได้ลงทุนด้านนี้กันหมดแล้ว แต่บ้านเรายังล่าช้าในเรื่องนี้

ด้าน บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด โดย บัณฑูรย์ ปกปักษ์ขาม Vice President – Energy Storage Solution กล่าวว่า ถ้าการซื้อขายคาร์บอนเข้าถึงง่ายขึ้นก็จะทำให้ทุกกิจการไปได้ เนื่องจากลู่วิ่งมาทางนี้หมดแล้ว แต่ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางอาจยังเข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะการรับรองคาร์บอนเครดิต แต่แนวโน้มจะดีขึ้น

นอกจากนั้น อาจมีปัญหาการใช้พื้นที่ โดยเฉพาะเรื่องโซลาร์ฟาร์ม เพราะเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ต้องใช้พื้นที่มาก เช่น การผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ใช้พื้นที่ 6 ไร่ แต่ถ้าภาครัฐเอื้อเรื่องกฎระเบียบจะทำให้ง่ายขึ้น ส่วนแบตเตอร์รี่มีแนวโน้มที่ดีเพราะตอบโจทย์มากกว่าพลังงานลม พลังงานชีวมวล และโซลาร์เซลล์

ส่วนศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBIS) และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกคนมีส่วนในการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น ใช้ไฟฟ้าน้อยลงจะทำให้ค่าไฟถูกลง

รวมถึงเรื่องกำลังคน ที่จะเข้าสู่ตลาดคาร์บอนก็มีความสำคัญมาก เพราะเศรษฐกิจจะเข้าสู่โหมดกรีนหรือธุรกิจสีเขียว หลักสูตรของมหาวิทยาลัย จะต้องตอบโจทย์ในการผลิตคน และจะต้องทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อสีเขียวเพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่