posttoday

เล็งใช้มาตรการทางภาษี ‘ลดโรค ลดภาษี’ จูงใจลดโรคไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง

05 พฤษภาคม 2567

ภาคีสมัชชาสุขภาพฯ จัดทำนโยบายเล็งใช้มาตรการทางภาษี จูงใจลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น หัวใจ มะเร็ง เบาหวาน เผยอาจนำ ‘แคลอรี่เครดิต’ มาต่อยอดสร้างระบบนิเวศใหม่คล้าย ‘คาร์บอนเครดิต’ เปลี่ยนแคลอรี่ให้กลายเป็นสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดูแลสุขภาพ!

  • โรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs)

จากข้อมูลกรมสุขภาพจิต (พ.ศ.2564) พบว่ามีคนไทยตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อ 37 คนต่อชั่วโมง หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี อันดับหนึ่ง คือโรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 4.59 หรือประมาณ 28,000 คน รองลงมาคือโรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ตามลำดับ นอกจากนี้ จากรายงาน 2019 Global Health Estimates แสดงให้เห็นว่า 7 ใน 10 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก มาจากโรค NCDs ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตทั้งเจ็ดอันดับนี้ คิดเป็น 44% ของการเสียชีวิตทั้งหมด และเมื่อรวมกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อทั้งหมดแล้วจะสูงถึง 74% ของการเสียชีวิตทั่วโลก และส่วนใหญ่ร้อยละ 85 เป็นการเสียชีวิต ‘ก่อนวัยอันควร’ หรือประชากรวัยทำงาน

สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และจากรายงานผลการตรวจสุขภาพของคนไทย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจสุขภาพของคนไทยครั้งที่ 5 ในปี พ.ศ. 2557 พบว่าปัจจัยเสี่ยงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ภาวะอ้วน ภาวะเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้น การกินผักและผลไม้ที่เพียงพอลดลง

 

  • เล็งใช้มาตรการทางภาษี จูงใจร่วมลดโรค NCDs

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ 2/2567 ซึ่งมี นพ.โสภณ เมฆธน เป็นประธาน เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างข้อเสนอเชิงนโยบายของสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วย การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ และแผนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอฯ

นพ.โสภณ เปิดเผยว่า แม้ที่ผ่านมาเราจะมีความพยายามในการดำเนินงานเพื่อหยุดยั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มาเป็นระยะเวลานาน แต่ก็อาจเรียกได้ว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องด้วยบทบาทหน้าที่หลักยังอยู่ในหน่วยงานภาคสาธารณสุข ซึ่งความจริงแล้วหนทางของการแก้ไขปัญหานี้ จำเป็นจะต้องดึงบทบาทของภาคส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ภายใต้มาตรการใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมหรือ ‘ระบบนิเวศ’ เพื่อลดโรค NCDs ให้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบ

ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า หนึ่งในนวัตกรรมที่อาจนำมาใช้สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศเพื่อลดโรค NCDs ได้ คือ ‘มาตรการทางภาษี’ ซึ่งที่ผ่านมาอาจเคยมีการดำเนินมาตรการ เช่น ภาษีน้ำตาล ภาษีโซเดียม ฯลฯ แต่เรายังสามารถพัฒนาให้เกิดมาตรการทางภาษีที่หลากหลายเพิ่มเติม เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลหรือนิติบุคคล เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการป้องกันโรคในระดับบุคคล

นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า หนึ่งในแบบอย่างที่เริ่มต้นมาแล้วจาก มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 เรื่อง การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ซึ่งได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เก็บสะสม ‘แคลอรี่เครดิต’ แล้วสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเราอาจนำแนวทางนี้มาพัฒนากับโครงสร้างทางภาษี เกิดเป็นระบบนิเวศใหม่คล้ายกับ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่กลายเป็นมูลค่าและกระตุ้นให้แต่ละภาคส่วนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“หากเราพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศด้วยการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อกระตุ้นให้คนไทยลดโรค NCDs เช่น สามารถนำพฤติกรรมการออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพ ไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้ จะถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยจูงใจและทำให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันโรคแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน” นายชาญเชาวน์ ระบุ

ขณะที่ ดร.ภญ.อรทัย วลีวงศ์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ IHPP กล่าวว่า จากการจัดประชุมปรึกษาหารือ (ถกแถลง) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้ ทำให้ได้รับข้อมูลทั้งสถานการณ์ประเด็นปัญหา บทเรียนการดำเนินงานต่างๆ และข้อเสนอแนะ ที่นำมาสู่การร่างกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) เพื่อเป็นทิศทางของนโยบายสาธารณะประเด็นนี้ ที่จะนำไปหาฉันทมติในกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ร่วมกันต่อไป

สำหรับกรอบทิศทางนโยบายนี้ จะมุ่งสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เอื้อต่อการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภายใต้ 5 มาตรการหลัก ประกอบด้วย

1. จัดระเบียบและลดการเข้าถึงสินค้าทำลายสุขภาพ อาทิ เหล้า บุหรี่ อาหารแปรรูป

2. ส่งเสริมการผลิต เพิ่มการเข้าถึงสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพ

3. สร้างสภาวะแวดล้อมสรรค์สร้างและพื้นที่สุขภาวะ

4. สร้างความรอบรู้ สื่อสารข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง และจํากัดสื่อโฆษณา

5. สร้างโอกาส กิจกรรม ส่งเสริมการมีสุขภาพดีและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์

ทั้งนี้ ภายใต้ 5 ระบบและกลไกหนุนเสริมการดำเนินการ ได้แก่ 1. การพัฒนาเครื่องมือนโยบาย (policy instruments) และมาตรฐาน 2. การออกแบบ พัฒนานวัตกรรม โมเดล และขยายผลเชิงระบบ 3. การสนับสนุนการเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม 4. การพัฒนาระบบกำกับ ติดตามและประเมินผลลัพธ์ 5. การพัฒนาระบบตัดสินใจ บริหาร และสนับสนุนการลงทุน (Governance)

ในส่วนของกระบวนการภายหลังจากนี้ ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ จะมีการนำร่างข้อเสนอฯ เข้าสู่เวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน มิ.ย. 2567 ก่อนนำไปปรับปรุงเอกสารหลักและร่างมติอีกครั้ง และระหว่างนั้นก็จะมีกระบวนการระดับพื้นที่ โดยจัดเวทีปรึกษาหารือในจังหวัดนำร่องที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศเพื่อลด NCDs จากนั้นจึงนำเข้าสู่การจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ในช่วงประมาณเดือน ส.ค. 2567 เพื่อหาฉันทมติต่อนโยบายสาธารณะดังกล่าวร่วมกัน ก่อนที่จะเสนอต่อ คสช. เพื่อส่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

  • แคลอรี่เครดิต แอปพลิเคชันเก็บสะสมแคลอรี่

Calories Credit Challenge (CCC) ที่ทางนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ กล่าวถึงนั้น เป็นแอปพลิเคชันที่ให้ประชาชนได้ดาวน์โหลด และสะสมแคลลอรี่ เป็นเครดิต เก็บไว้ เพื่อให้เราได้ดูว่าที่ออกกำลังกายไปเป็นกี่แคลอรี่ที่เราลดได้และสะสมเก็บไว้ในแอปพลิเคชัน

CCC เป็นแอปพลิเคชั่นตัวช่วยนับแคลอรีในการออกกำลังกายสำหรับคนไทย ภายใต้โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อมวลชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีความตื่นตัวในการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ส่งเสริมสร้างสุขภาพพลานามัยของประชาชนทุกช่วงวัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. เชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่ยกีฬาของประชาชน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง 

2.เพื่อเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมกีฬาที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model) ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติฉบับที่ ๗

3.เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน

4.เพื่อการประชาสัมพันธ์และการสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนหันมาใส่ใจคุณภาพด้วยกิจกรรมทางกาย การออกกำลังกายและเล่นกีฬา และบันทึกแต้ม จากการสะสมจำนวนก้าว ระยะทาง และแคลอรี นำมาแลกรางวัล / สิ่งของสมนาคุณ ที่สนับสนุนโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และ/หรือผู้ประกอบการ

โดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในแอปพลิเคชันดังกล่าวต้องการชวนให้คนได้หันมาออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทีมและช่วยกันทำลายสถิติแข่งขันกับกลุ่มต่างๆ โดยปัจจุบัน ( เดือนพฤษภาคม ปี 2567 ) มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 405,399 คน โดยจังหวัดที่มีสมาชิกมากที่สุดคือชลบุรี แต่สมาชิกใหม่มากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้นยังมีการสร้างเครดิตในแอปพลิเคชันรวมไปแล้ว 200,467 จากจำนวนแคลอรีรวม 169,067,350 แคลอรี่ ซึ่งระบบสะสมเครดิตดังกล่าวในปัจจุบันสามารถนำไปแลกลุ้นสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ ซึ่งทาง ภาคีสมัชชาสุขภาพฯ ได้เล็งเห็นถึงโครงสร้างและระบบนิเวศที่เกิดขึ้น และหวังจะนำไปต่อยอดในอนาคตนั่นเอง