posttoday

'ไม่มีใครถูกบังคับให้ฉีด' เปิดคำพิพากษา ประเด็นวัคซีน 'แอสตร้าเซนเนก้า'

02 พฤษภาคม 2567

เปิดคำพิพากษาของศาลประเทศอินเดีย ประเทศผู้ผลิต 'Covishield' ซึ่งเคยมีคดีฟ้องร้องเช่นเดียวกับที่อังกฤษซึ่งเป็นประเด็นร้อนแรงทั่วโลกในช่วงเวลานี้ ระบุ 'ไม่มีใครถูกบังคับให้ฉีดวัคซีน' ก่อนรอคำแถลงจากกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่ยังไม่ได้ให้คำตอบถึงประเด็นดังกล่าว!

จากประเด็นที่มีการลงข่าวเกี่ยวกับการออกมายอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกของ 'วัคซีน Covishield' หรือ แอสตร้าเซนเนก้า ในศาลของสหราชอาณาจักร ว่าวัคซีนดังกล่าว 'อาจมีผลข้างเคียงอาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดและเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งเกิดขึ้นน้อย' และโพสต์ทูเดย์ได้เขียนระบุไปในข่าว ไม่ใช่ข้อมูลใหม่! วัคซีน 'แอสตร้า' ก่อลิ่มเลือด WHO ระบุชัดตั้งแต่ปี 2021  ซึ่งเผยให้เห็นว่าในวงการสาธารสุข และแม้แต่ WHO ก็มีการอ้างถึงข้อมูลดังกล่าวมาแล้วตั้งแต่ปี 2021 และไม่ใช่ข้อมูลใหม่แต่อย่างใดว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชนิดที่มีอะดีโนไวรัสเป็นพาหะ สามารถก่อให้เกิดลิ่มเลือดได้ ส่วนในประเทศไทยมีการใช้โดยระบุว่าเกิดเพียงส่วนน้อยและเมื่อคำนึงถึงการสูญเสียจากโควิด ( ในสมัยที่มีการระบาดหนัก ) ก็เห็นผลดีต่อการรับวัคซีนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการพูดถึงความปลอดภัยของวัคซีนและผลลัพธ์ที่ตามมาอยู่บ้าง และเมื่อโรคระบาดได้ผ่านพ้นไป สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือมีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับผลกระทบจากวัคซีน 'Covishield' ซึ่งเกิดขึ้นและนี่ไม่ใช่ครั้งแรก

 

เปิดกรณีการฟ้องร้องวัคซีน Covishield ที่อินเดียในปี 2022

ในกรณีของวัคซีน Covishield ซึ่งผลิตที่ประเทศอินเดีย ได้เคยมีการฟ้องร้องในปี 2022 อ้างอิงจากบทความในสื่อออนไลน์ของประเทศอินเดียอย่าง www.livelaw.in ที่ได้นำคดีการฟ้องร้องของ นายแพทย์ Jacob Puliyel ต่อ รัฐบาลอินเดีย ที่ตัดสินโดยศาลฎีกาของอินเดีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับ นโยบายการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดของรัฐบาล  คำสั่งเกี่ยวกับวัคซีน การเผยแพร่การทดลองทางคลินิก และผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน (AEFI) โดยสรุปคือ

 

  • ไม่มีใครถูกบังคับให้ฉีดวัคซีน

ศาลถือว่าบุคคลไม่สามารถถูกบังคับให้รับการฉีดวัคซีนได้ และสิทธิในความสมบูรณ์ทางร่างกายของบุคคลตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญ(อินเดีย) รวมถึงมีสิทธิในการปฏิเสธการฉีดวัคซีนด้วย

ศาลยังยอมรับถึงสิทธิของรัฐบาลในการกำหนดข้อจำกัดที่เหมาะสมเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข อย่างไรก็ตามข้อจำกัดดังกล่าวจะต้องสมเหตุสมผลและได้สัดส่วน 

 

  • ศาลปฏิเสธว่าวัคซีนไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ศาลปฏิเสธข้อโต้แย้งของผู้ร้องที่ว่า Covishield และ Covaxin ได้อนุมัติการใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินอย่างเร่งด่วน โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่าตราบใดที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับรายงานการประชุมของหน่วยงานกำกับดูแลและผลลัพธ์ที่สำคัญและข้อค้นพบของการทดลองนั้นมีเผยแพร่ในสาธารณะ  ผู้ยื่นคำร้องก็ไม่สามารถโต้แย้งได้ว่า “รายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทดลองทางคลินิก ให้เปิดเผยต่อสาธารณะ"

 

"ตามที่ WHO Statement on Clinical Trials และ GCP กำหนดไว้นั้น ข้อมูลการทดลองทางคลินิกและผลลัพธ์ที่สำคัญของการทดลองก็ได้รับการเผยแพร่แล้ว ในแง่ของกฎหมายที่มีอยู่ เราไม่เห็นว่าเหมาะสมที่จะออกคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลของการทดลองทางคลินิกเบื้องต้น เพราะมีการเผยแพร่ผลลัพธ์และข้อค้นพบที่สำคัญของการทดลองทางคลินิกดังกล่าวแล้ว" คำตัดสินระบุ

ศาลตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนทั้งสองชนิดได้รับการอนุมัติจาก WHO และมี "การปฏิบัติตามข้อกำหนด" กับขั้นตอนที่กำหนดภายใต้พระราชบัญญัติยาและเครื่องสำอาง พ.ศ. 2483 และกฎการทดลองยาและทางคลินิกใหม่ พ.ศ. 2562 ก่อนที่จะอนุมัติให้ทำกรณีฉุกเฉิน การใช้วัคซีนทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน ศาลได้สั่งให้เปิดเผยข้อมูลการทดลองทางคลินิกภายหลังการอนุมัติของวัคซีน

 

  • 'พึงพอใจ' กับรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน 

ศาลปฏิเสธที่จะยอมรับข้อโต้แย้งของผู้ร้องว่าระบบเฝ้าระวังของ ผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีน มีข้อบกพร่อง และไม่มีการเปิดเผยตัวเลขที่ถูกต้องของผู้ที่ได้รับผลข้างเคียง ปฏิกิริยารุนแรง หรือการเสียชีวิตหลังการฉีดวัคซีน

ในเวลาเดียวกัน ศาลสั่งให้รัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะของผู้ร้องที่ว่าบุคคลและแพทย์เอกชนควรได้รับอนุญาตให้รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ด้วย  “อย่างไรก็ตาม เราเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของผู้ร้องว่าควรมีกลไกที่บุคคลและแพทย์เอกชนควรได้รับอนุญาตให้รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ต้องสงสัย”

ศาลเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำเอกสารที่เหมาะสมเกี่ยวกับผลข้างเคียง ศาลกล่าวว่า "ข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจุดประสงค์ในการทำความเข้าใจความปลอดภัยของวัคซีน  นอกเหนือจากการเป็นเครื่องมือในการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ ก็ควรที่จะรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และเปิดให้ประชาชนในวงกว้างรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพื่อข้อมูลที่แม่นยำและถูกต้อง

"ดังนั้น สหภาพอินเดียจึงได้รับคำสั่งให้รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ต้องสงสัยโดยบุคคลและแพทย์ส่วนตัวบนแพลตฟอร์ม และรายงานที่ทำขึ้นจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ .."

 

นี่คือแนวทางการตัดสินของศาลอินเดีย อย่างไรก็ตามในกรณีการฟ้องร้องที่ศาลอังกฤษนั้น เป็นในกรณีของผู้เสียหาย ซึ่งอ้างว่าได้รับผลกระทบจากวัคซีนและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา ต่อบริษัทที่ผลิตวัคซีน ซึ่งก็ต้องรอดูว่าบทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ข่าวที่เกิดขึ้นได้สร้างความตื่นตระหนกต่อประชาชนและพลเมืองโลก เพราะมีหลายล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอนุมัติใช้วัคซีนชนิดนี้ที่จะตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงต่อไป สำหรับกระทรวงสาธารณสุขไทย ทางโพสต์ทูเดย์ได้มีการสอบถามไปตั้งแต่เมื่อวาน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบและคำอธิบายใดๆ.