posttoday

ย้อนประวัติศาสตร์ 'วัคซีน' รักษาชีวิตมนุษย์ได้อย่างน้อย 154 ล้านคน!

30 เมษายน 2567

สัปดาห์นี้เป็น 'สัปดาห์การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก' เพื่อสร้างการตระหนักถึงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม โพสต์ทูเดย์จึงพาย้อนไปดูประวัติศาสตร์การเกิดวัคซีน ขั้นตอนกว่าจะเป็นวัคซีนได้สักเข็มหนึ่ง และทำไมประเด็นความเท่าเทียมถึงถูกพูดถึงในเรื่องของวัคซีน

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน เป็นสัปดาห์แห่ง World Immunization week หรือ สัปดาห์การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และจากข้อมูลของ UNICEF ระบุว่าวัคซีนได้ช่วยชีวิตมนุษย์ไปแล้วอย่างน้อย 154 ล้านคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน .. โพสต์ทูเดย์จึงอยากพาย้อมไปดูประวัติศาสตร์วัคซีน และขั้นตอนกว่าจะเป็นวัคซีนได้สักเข็มหนึ่งนั้นยากเย็นขนาดไหน!

 

  • ไข้ทรพิษ กำเนิดวัคซีนชนิดแรกของโรค

วัคซีนเริ่มมีการพัฒนาครั้งแรกในราวคริสต์ทศวรรษที่ 1770  ในช่วงแรกการระบาดของโรคไข้ทรพิษนั้นเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ทั่วโลก และมีอัตราการเสียชีวิตตั้งแต่ร้อยละ 1 ไปจนถึงร้อยละ 30  และเป็นเวลากว่าพันปีที่มันได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าร้อยล้านคน เพราะคนที่ติดเชื้อ 1 ใน 3 ต้องตายจากการเจ็บป่วย .. แม้แต่โมซาร์ทหรือว่าอับราฮัม ลินคอน ก็เคยติดเชื้อโรคไข้ทรพิษ  โดยที่นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบว่าอะไรที่ทำให้เกิดโรคไข้ทรพิษ เพียงแต่รู้ว่าคนที่สัมผัสกับโรคฝีดาษมาแล้วสามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้!

ในสมัยอดีตตั้งแต่ยุคอียิปต์ ผู้คนจะนำเชื้อไข้ทรพิษจำนวนเล็กๆ ไปใส่ให้คนสุขภาพดีเพื่อเกิดการติดเชื้อ แต่ว่าจะไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ในประเทศจีนก็ปรากฎลายลักษณ์อักษรบรรยายถึงการใช้วิธีการที่นำเอาสะเก็ดของไข้ทรพิษมาบดให้แห้งและเป่าเข้ารูจมูก ในประเทศอินเดียก็มีการถ่ายโอนเชื้อไข้ทรพิษไปยังผิวหนังของเด็กที่มีสุขภาพดีเช่นกัน

ส่วนในทวีปยุโรปมีการเผยแพร่วิธีการนี้จาก Lady Mara Wortley Montagu ที่นำมาใช้ในจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งได้สร้างความสนอกสนใจให้แก่ชาวตะวันตกในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1796 ก็ได้มีการสาธิตการใช้วัคซีนตัวแรกของโรค ซึ่งเป็นฝีมือของ Edward Jenner นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ประสบความสำเร็จในการสกัดเชื้อหนองฝีวัวมาใช้ปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษในมนุษย์ โดยวิธีการนี้สามารถป้องกันไข้ทรพิษได้จริงและขยายวงของการยอมรับออกไปเรื่อยๆจนวิธีการของ Edward Jenner ก็เป็นที่ยอมรับและมีการเรียกชื่อหนองฝีวัวนั้นว่า ‘วัคซีน’ (vaccine) ซึ่งเป็นคําที่มาจากภาษาลาตินว่า vacca ซึ่งแปลว่า วัว  โดยฉีดวัคซีนให้กับ เจมส์ ฟิบส์ เด็กชายวัย 8 ขวบ

หลังจากนั้นมีการพัฒนาและเผยแพร่ไปทั่วอเมริกาและบางส่วนของสหราชอาณาจักร ซึ่งนำไปสู่เงื่อนไขที่ว่าคนที่จะเดินทางจะต้องจัดทำใบรับรองการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษด้วย! หลังจากนั้นวัคซีนไข้ทรพิษได้ถูกนำไปใช้ทั่วโลกและป้องกันการเจ็บป่วยมานานหลายศตวรรษ!

 

Edward Jenner กำลังปลูกฝีให้กับผู้ได้รับวัคซีนคนแรก

 

สำหรับประเทศไทย โรคไข้ทรพิษมีบันทึกในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หน่อพุทธางกูรและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต่างก็ประชวรด้วยไข้ทรพิษ หรือแม้กระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังมีการแพร่ระบาดของโรคนี้ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้มีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษเป็นครั้งแรกในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2378 โดยหมอบรัดเลย์เป็นผู้นำเข้ามาเผยแพร่โดยใช้ฝีวัวจากสหรัฐฯ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชดำริให้คิดทำหนองฝีขึ้นใช้เอง เพราะเนื่องจากหนองฝีวัวที่นำเข้าจากสหรัฐฯ ต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 9 เดือน!

ท้ายสุดไข้ทรพิษถูกกำจัดให้หมดไปจากโลกในปี ค.ศ.1979  ซึ่งกว่าจะเดินทางมาถึงจุดนั้นได้ ไข้ทรพิษก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วประมาณ 300–500 ล้านคน และใช้เวลากว่าที่วัคซีนจะถูกใช้รักษาทั่วโลกไปเกือบ 200 ปี!

 

การปลูกฝีในไทยสมัยรัชกาลที่ 3

 

 

  • กว่าจะได้วัคซีน ไม่ใช่เรื่องง่าย!

สำหรับหลักเกณฑ์ผลิตวัคซีนในปัจจุบัน อ้างอิงจากสหรัฐอเมริกาพบว่าต้องใช้เวลานานหลายปี การคิดค้นวัคซีนชนิดหนึ่งจะเริ่มจากการพัฒนาไอเดียและความเป็นไปได้ โดยใช้เวลาในห้องทดลองยาวนาน 10-15 ปี หลังจากนั้นจึงนำไปทดลองกับสัตว์ขนาดเล็กเช่นหนู ซึ่งในขันตอนนี้นักวิจัยอาจทำการปรับเปลี่ยนวัคซีนเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากวัคซีนให้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจจะมุ่งไปสู่การทดลองทางคลินิก

สำหรับการทดลองทางคลินิกขั้นตอนแรกจะทดลองกับคนกลุ่มเล็ก 20 -100 คน นักวิจัยจะรวบรวมข้อมูลว่ามีความปลอดภัยหรือไม่รวมถึงระบุผลข้างเคียงและศึกษาว่าเกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงใด ต่อมาขั้นตอนที่ 2 จะทดลองทางคลินิกไปยังผู้เข้าร่วมอีก 100-300 ราย ที่มีลักษณะของอายุและสุขภาพคล้ายกับผู้รับวัคซีนที่ตั้งใจไว้ ต่อมาระยะที่ 3 จะทดลองทางคลินิกไปสู่คนหลายพัน ในระยะนี้นักวิจัยจะต้องยืนยันว่าวัคซีนได้ทำงานได้ดีเพียงใด และปลอดภัยในมนุษย์ ท้ายสุดในระยะที่ 4 หลังจากได้รับการอนุมัติจาก FDA ว่าเป็นวัคซีนสำหรับใช้ในประชากรทั่วไป อาจเข้าสู่ขั้นตอนการทดลองคลินิกเพิ่มเติมกับผู้เข้าร่วมอีกหลายพันคน เพื่อประเมินความปลอดภัยในระยะที่ยาวนานขึ้น

ต่อมาสำหรับกระบวนการผลิตวัคซีนนั้น ในระหว่างที่ทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 FDA จะพิจารณากระบวนการผลิตวัคซีนไปด้วย โดยจะมีการตรวจสอบโรงงานด้วยว่าการผลิตนั้นมีความสม่ำเสมอเพียงใด

หลังจากนั้นก่อนที่วัคซีนจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในอเมริกา บริษัทจะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตทางชีวภาพ รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ อีกมากมาย  อีกทั้งยังมีรายละเอียดอีกหลายประการทั้งการขนส่งวัคซีน การกระจายวัคซีนไปยังสถานที่ต่างๆ การฉีดวัคซีนและติดตามความปลอดภัยของวัคซีน

ซึ่งทำให้เห็นว่ากว่าจะได้วัคซีนนั้นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต การวิจัยและพัฒนาวัคซีน และควบคุมให้ได้คุณภาพและประสิทธิภาพก่อนการใช้งานจริงเพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด รวมไปถึงต้องอาศัยงบประมาณหรือเงินทุนจำนวนมากและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากผู้ผลิตหรือผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยตรง โดยมีการคาดการณ์ว่าการผลิตและพัฒนาวัคซีนนั้นจะใช้เงินราว 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว!

 

ย้อนประวัติศาสตร์ \'วัคซีน\' รักษาชีวิตมนุษย์ได้อย่างน้อย 154 ล้านคน!

 

  • โรคระบาดกับประเด็นความเท่าเทียมจากเรื่อง ‘วัคซีน’

เมื่อมองถึงงบประมาณ วิทยาการ และระยะเวลา ก็จะพบว่าเป็นการยากที่ห่วงโซ่การผลิตวัคซีนนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลกได้จนเพียงพอ ประกอบกับตามปกติเราจะใช้วัคซีนสำหรับป้องกันก่อนการเกิดโรค เช่น วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในวัยเด็ก หรือในวัยชรา วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ  จึงดูเหมือนว่าวัคซีนจะไม่ได้อยู่ในภาวะเร่งด่วนเท่าไหร่นักมากนาน  จนกระทั่งเกิดการระบาดโควิด 19 ซึ่งกลายเป็นสถานการณ์เร่งด่วนทั่วโลก ทุกคนต้องการวัคซีนมาป้องกันตัวเอง จึงทำให้เราได้เห็นปัญหาที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ นั่นคือ ‘ประเด็นความเท่าเทียม’ ในเรื่องวัคซีน

ในปี 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทยได้รายงานสถานการณ์ว่าสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกส่งผลต่อการจัดหาวัคซีน และแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมที่ชัดเจน โดยพบว่ายอดการจองวัคซีนมากกว่าร้อยละ 50 อยู่ในประเทศที่มีรายได้สูงซึ่งมีจำนวนคนเพียงร้อยละ 16 ของประชากรทั่วโลกเท่านั้น เพราะสามารถเข้าถึงวัคซีนในราคาที่แพงเหล่านี้ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศรายได้ต่ำ โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา จีน และอิสราเอล เป็นประเทศที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในช่วงปีดังกล่าว และทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนำมาซึ่งการเสียชีวิตจากโควิด 19 โดยไม่จำเป็น จนถึงขั้นมีการออกมาเรียกร้องและให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงแนวปฏิบัติที่สำคัญโดยเฉพาะบริษัทยาที่ต้อง “รับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนในการขยายการเข้าถึงยาสำหรับทุกคน”

 

  • สถานการณ์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ในปัจจุบัน พบว่ามีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่สามารถวิจัยและพัฒนาวัคซีนขึ้นได้ อาทิ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) เป็นต้น นอกจากนี้ ในประเทศไทย ยังมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรม อาทิ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 4,800 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนได้ แต่หากอยู่ในช่วงของสถานการณ์การระบาดของโรคในวงกว้างและเกิดการกลายพันธุ์เฉกเช่นที่เคยพบเจอในช่วงโควิด อาจส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการผลิตวัคซีนให้เพียงพอ

และไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น  เพราะในปัจจุบันกำลังการผลิตวัคซีนทั่วโลกยังคงไม่เพียงพอและไม่ทันต่อการเผชิญกับโรคระบาดชนิดใหม่ในครั้งต่อไป หากความรุนแรงเท่ากับโควิด 19 ด้วยเช่นกัน.

 

ที่มา

https://www.cdc.gov/vaccines/basics/test-approve.html

https://bioinnovationlinkage.oie.go.th/a_AttachSupplyChain/SC3_3_20210921_185727_1.pdf

https://www.mhesi.go.th/index.php/all-media/infographic/3259-19-6.html