posttoday

ท็อป จิรายุส หนุนตั้งมหาวิทยาลัยสีเขียว พัฒนาทักษะรองรับ Green Supply Chain

25 เมษายน 2567

ท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด แชร์มุมมองเสริมทักษะให้สอดคล้องกับโลกในอนาคต ควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยสีเขียว พัฒนาทักษะเฉพาะด้าน รองรับ Green Supply Chain

กรุงเทพธุรกิจจัดเวที Go Green 2024 : The Ambition of Thailand เปลี่ยนความท้าทายในยุค "โลกเดือด" (Global Boiling) ให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย และนำพาประเทศให้ผ่านจุดเปลี่ยน ด้วยการปรับตัวอย่างมียุทธศาสตร์ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์  ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2567 เวลา 08.30 - 16.30 น. 

โดยภายในงานมีวิทยากรจากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมถ่ายทอดข้อมูลกฏหมายโลกร้อน, คาร์บอนเครดิต, Climate Technology และ Circular Economy กันอย่างคับคั่ง

คุณท็อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ระบุว่า ประเด็นเรื่อง Climate Tech ถูกพูดถึงมากขึ้นทุกปี จากผลกระทบด้านสภาพอากาศที่ย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ แค่ในปี 2023 มีคนเสียชีวิตจากอากาศสกปรกถึง 7 ล้านคน และต้องอาศัยทุนกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี โดยลงทุนติดต่อกันทุกปีจนถึง 2050 ถึงจะบรรลุเป้าหมาย Net- Zero ได้ จึงเกิดกลไกที่ชื่อว่า Carrot & Stick ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นมาตรการที่ใช้ในการให้รางวัลและการลงโทษ เพื่อนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมที่ดี เพื่อเอื้ออำนวยต่อธุรกิจที่ต้องเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เช่น บริษัทไหนที่ไม่ยอมเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสีเขียว จะไม่สามารถยื่นกู้ต่อสถาบันการเงินได้ ไม่สามารถส่งออกได้ ไม่สามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ซึ่งกลไกนี้จะเป็นตัวบีบบังคับให้ทุกธุรกิจต้องหักดิบ Supply Chain ของตัวเองไปโดยปริยาย 

เมื่อถามว่าเมื่อเทียบกับต่างชาติ Climate Technology ของไทยอยู่จุดไหน คุณท็อปให้คำตอบว่า ประเทศไทยถือเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ซึ่งอาเซียนอยู่ในส่วนที่เรียกว่า Global South ซึ่งปัญหาตอนนี้คือโลกแตกเป็นเศษส่วน มีการแบ่งแยกทั้งบน ล่าง ซ้าย ขวา ซึ่งซีกโลกด้านบนหรือ Global North เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมี Climate Technology กระจุกอยู่ในพื้นที่นี้มากที่สุด ขณะที่ประเทศทาง Global South เป็นประเทศที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา Climate Technology จึงยังไม่กระจายตัวมาในพื้นที่นี้ ซึ่งนี่คือปัญหา แม้ข้อมูลตัวเลขจะบอกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ในบ้านเรามากขึ้น แล้วในปัจจุบันจะทำอย่างไร? เมื่อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังติดกำแพง “Green Premium” ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ยาก เพราะมีราคาแพง

ธุรกิจต่างๆที่ยังไม่มีความรู้หรือความตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวลเช่นกัน ซึ่งทางสถาบันการศึกษาสามารถให้ความร่วมมือในจุดนี้ได้ด้วยการเปิดมหาวิทยาลัยสีเขียว เพื่อพัฒนาทักษะเฉพาะด้านสำหรับ Supply Chain สีเขียวโดยเฉพาะ เราต้องเร่งสร้างองค์ความรู้ และเสริมทักษะให้สอดคล้องกับเทรนด์โลกในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เรื่องเทคโนโลยีถือว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับบิทคับ แต่เรายังติดเรื่องของกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ซึ่งหากทางการไฟเขียว บิทคับสามารถเปิดเทรดคาร์บอนเครดิตได้ภายใน 24 ชั่วโมงทันที เพราะมีความพร้อมด้านความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถสร้าง Ecosystem ที่เกี่ยวข้องกับ Supply Chain สีเขียว