posttoday

ถุงเท้าอัจฉริยะที่ใช้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเบาหวาน

29 เมษายน 2567

เมื่อพูดถึงเบาหวานสิ่งที่หลายท่านคิดคือการตีบตันในเส้นเลือดจนนำไปสู่การติดเชื้อ โดยเฉพาะส่วนเท้าที่มักนำไปสู่การสูญเสียอวัยวะได้ง่าย แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปเมื่อมีการคิดค้นถุงเท้าอัจฉริยะที่ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเบาหวาน

เบาหวาน ถือเป็นโรคร้ายที่สร้างความปวดหัวให้กับคนมากมาย ทั้งสำหรับตัวผู้ป่วย คนใกล้ชิด ไปจนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ด้วยนี่ถือเป็นโรคเรื้อรังที่สร้างผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาว และยังอาจนำไปสู่การติดเชื้อไปจนโรคแทรกซ้อนอีกหลายชนิดที่อันตรายเป็นอย่างยิ่ง

 

         โรคแทรกซ้อนจากเบาหวานที่เป็นอันตรายมีตั้งแต่โรคหัวใจ ความดันโลหิต เส้นเลือดอุดตัน ไปจนการติดเชื้อต่างๆ อาการเหล่านี้นำไปสู่การเจ็บป่วยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะความพิการและทุพลภาพจากการติดเชื้อหรือเลือดไม่ไหลเวียน จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

 

         ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นถุงเท้าอัจฉริยะสำหรับตรวจสอบอาการเท้าของผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะ

 

ถุงเท้าอัจฉริยะที่ใช้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเบาหวาน

 

ถุงเท้าอัจฉริยะสำหรับตรวจอาการโรคเบาหวาน

 

         ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยจาก Chonnam National University Hospital จากเกาหลีใต้ กับการคิดค้นถุงเท้าอัจฉริยะ สำหรับดูแลรักษาอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวาน เพียงนำมาสวมใส่ก็สามารถใช้ในการตรวจวัดระดับการไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าพร้อมวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจไปพร้อมกัน

 

         เรื่องน่าหนักใจของผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกกว่า 537 ล้านรายคือ การเจ็บป่วยมักนำไปสู่โรคกแทรกซ้อนอื่นจนเกิดความเสียหายต่ออวัยวะ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงมักนำไปสู่อาการหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบตันโดยเฉพาะบริเวณปลายเท้า หลายครั้งจึงมักนำไปสู่อาการขาดเลือดหรือติดเชื้อจนต้องสูญเสียอวัยวะไปในที่สุด

 

         นี่เองจึงนำไปสู่การพัฒนาถุงเท้าอัจฉริยะสำหรับตรวจสอบอาการผู้ป่วยเบาหวานโดยเฉพาะ ถุงเท้าจะได้รับการติดตั้งเซ็นเซอร์ ballistocardiogram (BCG) เมื่อทำการสวมถุงเท้าแล้วยืนและเดินเป็นเวลาราว 40 วินาที เซ็นเซอร์จะสามารถตรวจสอบการกระจายแรงกดที่เท้าและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

 

         การตรวจสอบการกระจายแรงกดที่เท้าในระหว่างกำลังสวมถุงเท้าอัจฉริยะนี้ ช่วยตรวจสอบสุขภาพของเท้าข้างที่กำลังสวมใส่ โดยอาศัยแบบประเมินระบบประสาท Michigan Neuropathy Screening Instrument(MNSI) เพื่อตรวจสอบความเสียหายของเส้นประสาท และ ankle-brachial index(ABI) สำหรับระบุความเสียหายหลอดเลือด

 

         จากการตรวจสอบผ่านกลุ่มทดลอง 40 รายพบว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแรงกดดันบริเวณกระดูกฝ่าเท้าสูงกว่าคนทั่วไปในช่วงเวลาที่กำลังเดิน สิ่งนี้สามารถตรวจพบได้จากเซ็นเซอร์ BCG ที่ติดตั้งอยู่ในถุงเท้าอัจฉริยะ ช่วยระบุผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการไหลเวียนโลหิตไม่ดีจนการเกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน

 

ถุงเท้าอัจฉริยะที่ใช้ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเบาหวาน

 

ประโยชน์ของถุงเท้าอัจฉริยะที่ใช้งานได้มากกว่าเบาหวาน

 

         จริงอยู่ถุงเท้าอัจฉริยะได้รับการออกแบบสำหรับให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้งานโดยเฉพาะ สำหรับรับมือและตรวจสอบการไหลเวียนเลือดบริเวณเท้าของผู้ป่วย ป้องกันการอุดตันที่อาจนำไปสู่การติดเชื้อและโรคแทรกซ้อนชนิดอื่นเป็นหลัก นี่จึงเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการสูญเสียอวัยวะของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

 

         เมื่อเปรียบเทียบกับขั้นตอนการตรวจแบบเดิม การอุดตันในเส้นเลือดตามปกติมักต้องอาศัยการวินิจฉัยจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะ จำเป็นต้องได้รับการสั่งตรวจจากแพทย์รวมถึงต้องเดินทางไปสถานพยาบาลไม่สะดวกกับผู้ป่วยบางกลุ่ม ตรงข้ามกับถุงเท้าอัจฉริยะที่มีขั้นตอนการตรวจง่ายสามารถใช้ได้ทั่วไป

 

         การเข้ารับการตรวจและค้นพบโรคหลอดเลือดแดงตีบและอุดตันบริเวณเท้าแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถมองหาแนวทางรับมือและรักษาได้ทันท่วงที ด้วยหลายครั้งเพียงได้รับยา กายภาพบำบัด รวมถึงปรับรูปแบบการเดินให้เหมาะสมก็สามารถป้องกันได้

 

         นอกจากการไหลเวียนเลือดบริเวณเท้าแล้ว ถุงเท้าอัจฉริยะยังสามารถใช้ในการตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยไม่แพ้กัน เพราะคลื่นไฟฟ้านี้ใช่บ่งบอกและตรวจสอบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ ใช้ในการตรวจรับมือโรคเกี่ยวกับหัวใจในขั้นต้น

 

         โรคที่อาศัยข้อมูลกราฟไฟฟ้าหัวใจในการตรวจสอบ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน, โรคกล้ามเนื้อหัวใจชนิดต่างๆ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไปจนหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงสามารถใช้ในการตรวจสอบความผิดปกติต่อหัวใจในขั้นต้น ป้องกันการเกิดโรคหัวใจซึ่งมักเป็นโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวานได้อีกทาง

 

         นี่จึงถือเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้มีแนวโน้มเป็นโรคเบาหวานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

 

 

 

         น่าเสียดายตรงปัจจุบันอุปกรณ์นี้อยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัยจึงไม่รู้ว่าจะถูกผลิตออกมาให้ใช้งานจริงวันใด แต่หากถุงเท้าอัจฉริยะนี้ได้รับการพัฒนาออกมาสำเร็จ ในอนาคตการตรวจสุขภาพไหลเวียนเลือดบริเวณเท้า รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคหัวใจเบื้องต้น อาจสามารถทำได้เองที่บ้านเหมือนการวัดความดันโลหิตก็เป็นได้

 

 

 

         ที่มา

 

         https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/december-2023/peripheral-arterial-disease

 

         https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/diabetes-2

 

         https://www.escardio.org/The-ESC/Press-Office/Press-releases/Electronic-sock-detects-unhealthy-walking-style