posttoday

เจาะพฤติกรรมใช้จ่าย ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

23 เมษายน 2567

ผลสำรวจเผย Gen Z มีแนวโน้มนำเงินจากโครงการเงินดิจิทัล (Digital wallet) 10,000 บาท ไปซื้อสมาร์ทโฟนมากที่สุด ขณะที่กลุ่มรายได้น้อยและผู้สูงวัยมีแนวโน้มนำเงินจากโครงการไปซ่อมแซม-ต่อเติมบ้าน

SCB EIC เผยพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้มีสิทธิจากนโยบาย Digital wallet โดยผู้มีสิทธิในโครงการจะอยู่ที่ราว 50 ล้านคน ซึ่งเป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท โดยจะได้รับเงิน 10,000 บาทผ่านแอปพลิเคชันที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งสามารถนำไปซื้อสินค้าได้ทุกประเภท (ยกเว้นอบายมุข บริการ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าออนไลน์) จากร้านค้าปลีกขนาดเล็กภายในอำเภอ (รวมร้านสะดวกซื้อ Standalone และในปั๊มน้ำมัน) ซึ่งการใช้จ่ายจะเริ่มในไตรมาส 4 ปี 2567

ผลสำรวจระบุว่า สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจะใช้จ่ายเงินในโครงการ Digital wallet 10,000 บาท ไปกับสินค้าอุปโภคบริโภค เกือบ 40% ของประเภทสินค้าที่เลือกซื้อทั้งหมด ขณะที่สินค้าหมวดสุขภาพและร้านอาหารอยู่ในลำดับรองลงมา

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีสิทธิที่อยู่ในช่วง Gen Z มีแนวโน้มนำเงินไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อแต่ง/ซ่อมบ้านเพิ่มเติม

ขณะที่การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายที่สามารถใช้ได้แค่ร้านค้าตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่มองว่ายังเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายเงินโครงการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงาน/อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ซึ่งราว 70% ของกลุ่มเหล่านั้น มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยปัญหาหลักของการใช้จ่าย มาจากการไม่มีร้านค้าที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการในพื้นที่ที่กำหนด

สำหรับระยะเวลาในการใช้จ่าย ผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินโครงการ 10,000 บาทครบภายใน 6 เดือน แต่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน) หรือ กลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทยอยใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการในเดือน เม.ย. 2570 (ตามเงื่อนไขการใช้จ่ายที่ทางการประกาศเมื่อเดือน พ.ย. 2566) 

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ยังไม่ได้ระบุระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินของโครงการ ซึ่งหากภาครัฐต้องการให้เงินหมุนเวียนเร็วอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจต้องกำหนดระยะเวลาการใช้จ่ายให้สั้น เช่น ไม่เกิน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีสิทธิใช้จ่ายในระยะเวลาที่กำหนด โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ

เจาะพฤติกรรมใช้จ่าย ผู้มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท