posttoday

เรดาร์ชนิดใหม่ที่ช่วยตรวจสุขภาพบนรถยนต์แบบเรียลไทม์

23 เมษายน 2567

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับเรดาร์ในฐานะอุปกรณ์สำหรับคมนาคมขนาดใหญ่ ได้รับความนิยมในอากาศยานหรือการเดินเรือเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แต่ล่าสุดเราจะล้ำไปอีกขั้น เมื่อมีการคิดค้นเรดาร์ชนิดใหม่ที่ช่วยให้เราสามารถตรวจสุขภาพบนรถยนต์

ในสายตาหลายท่านการตรวจสุขภาพถือเป็นเรื่องยุ่งยากน่ารำคาญอยู่ไม่น้อย เนื่องจากการเข้ารับการตรวจแต่ละครั้งล้วนต้องทำที่สถานพยาบาล อีกทั้งการเข้ารับการตรวจบางกรณีก็ไม่สามารถทำได้ทันที แต่จำเป็นต้องอาศัยการรับรองจากแพทย์จึงมีสิทธิเข้ารับการตรวจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากการตรวจสุขภาพจะถูกมองเป็นเรื่องยุ่งยากที่เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

 

          อย่างไรก็ตามการตรวจสุขภาพถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการรักษาสุขภาพที่มีความสำคัญ เพื่อตรวจสอบสภาพร่างกายของเราในปัจจุบัน ค้นหาปัจจัยเสี่ยง ความผิดปกติ หรือโรคที่ซ่อนเร้นเพื่อหาทางรับมือป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาดและคุณภาพชีวิต

 

          เพื่อลดความยุ่งยากในขั้นตอนการกระบวนการตรวจสุขภาพนี้เองจึงนำไปสู่แนวคิด เรดาร์บนรถยนต์ที่ช่วยตรวจสุขภาพแบบเรียลไทม์

 

เรดาร์ชนิดใหม่ที่ช่วยตรวจสุขภาพบนรถยนต์แบบเรียลไทม์

 

เรดาร์รุ่นใหม่ที่ช่วยตรวจสุขภาพผู้ขับขี่บนรถยนต์

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก University of Waterloo กับการพัฒนาเรดาร์ชนิดใหม่ที่สามารถนำไปติดบนรถยนต์หรือรถโดยสาร แล้วเปลี่ยนรถคันดังกล่าวให้มีสถานะคล้ายศูนย์การแพทย์เคลื่อนที่ซึ่งพร้อมตรวจสุขภาพ โดยผู้ใช้งานไม่ต้องเหยียบเข้าโรงพยาบาลแม้แต่ก้าวเดียว

 

          ส่วนใหญ่เราอาจคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเรดาร์ในเชิงการทหาร คมนาคม หรืออวกาศเป็นหลัก แต่อันที่จริงเรดาร์ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบตั้งแต่สภาพอากาศ ภัยธรรมชาติ ไปจนสิ่งแวดล้อม หรือในเทคโนโลยีขนาดเล็กอย่างยานยนต์ไร้คนขับหรือแม้แต่สมาร์ทโฟนเองก็มีการใช้งานกันทั่วไป

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงได้คิดค้นพัฒนาเรดาร์ติดตั้งบนยานพาหนะรูปแบบใหม่ เป็นเรดาร์ที่มีขนาดเล็กกว่าแฟลชไดร์ฟโดยจะทำการติดตั้งเอาไว้ในห้องโดยสารของรถยนต์ อาศัยช่วงเวลาที่อยู่ภายในห้องโดยสารรถยนต์ระหว่างการเดินทางเพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาพของคนขับในยานพาหนะ

 

          เรดาร์จะตรวจสอบการเคลื่อนไหวและการสั่นสะเทือนของร่างกายเพื่อนำไปประเมินข้อมูลทางสุขภาพ เมื่อรวบรวมเสร็จสิ้นข้อมูลจะถูกส่งไปประมวลผลผ่านระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำการวิเคราะห์ สร้างข้อมูลสุขภาพ และประเมินภาวะความเสี่ยงโรคที่อาจจะเกิดขึ้น

 

          ปัจจุบันเรดาร์สามารถตรวจวัดอัตราการหายใจและอัตราการเต้นหัวใจของคนขับอย่างแม่นยำ ระบุความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับอัตราการเต้นของชีพจรและระบบทางเดินหายใจ จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการประเมินข้อมูลจะถูกส่งตรงเข้าหาสมาร์ทโฟนที่ทำการเชื่อมต่อทันที ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบสุขภาพได้ทุกครั้งในช่วงเวลาที่ขับรถ

 

          นี่จึงเป็นอีกทางเลือกของคนรักสุขภาพที่สามารถตรวจสอบสภาพร่างกายของเราในทุกครั้งที่ขับรถ

 

เรดาร์ชนิดใหม่ที่ช่วยตรวจสุขภาพบนรถยนต์แบบเรียลไทม์

 

ประโยชน์ของเรดาร์และความเป็นไปได้ในอนาคต

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจรู้สึกว่าอุปกรณ์นี้ไม่มีความจำเป็นนัก เนื่องจากปัจจุบันมีอุปกรณ์อย่างสมาร์ทวอช ที่สามารถตรวจวัดอัตราการเต้นหัวใจและติดตามข้อมูลสุขภาพของเราแบบเรียลไทม์ ทั้งอัตราการเต้นหัวใจ วัดออกซิเจนในเลือด ไปจนตรวจสอบความดันโลหิต จึงน่าจะมีอรรถประโยชน์ในการใช้งานมากกว่า

 

          อย่างไรก็ตามเรดาร์รถยนต์เองก็มีระบบและกลไกการทำงานที่ยานพาหนะชนิดอื่นไม่มี เช่น ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีการตรวจพบเด็กหรือสัตว์เลี้ยงถูกขังอยู่ในยานพาหนะ จากเรดาร์ขนาดจิ๋วที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 3 เซนติเมตร เมื่อตรวจพบเด็กหรือสัตว์เลี้ยงที่ลืมไว้จะเริ่มส่งสัญญาณแจ้งเตือนทุกคนในพื้นที่ พร้อมปลดล็อกประตูรถเพื่อป้องกันการเกิดอันตราย

 

          สำหรับเรดาร์ตรวจสุขภาพบนรถยนต์นี้จุดเด่นสำคัญคือ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องทำการสวมใส่สมาร์ทวอชติดตัวตลอดเวลาเพื่อเก็บข้อมูล เพียงทำการขึ้นไปนั่งบนรถและทำการใช้งานตามปกติ เรดาร์ก็จะตรวจสอบข้อมูลสุขภาพแล้วส่งข้อมูลสู่สมาร์ทโฟนโดยอัตโนมัติ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบความยุ่งยากหรือการสวมใส่อุปกรณ์ติดตัว

 

          อันดับต่อมาคือความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ต่างจากระบบตรวจสุขภาพรูปแบบอื่น ข้อมูลที่ได้จากเรดาร์ตรวจสุขภาพของพวกเขาไม่มีการส่งหรืออัปโหลดข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ข้อมูลทั้งหมดได้รับการประมวลผลแล้วส่งหาสมาร์ทโฟนที่กำหนดเท่านั้น ผู้ใช้งานจึงแน่ใจได้ว่าข้อมูลสุขภาพของตนจะไม่มีการรั่วไหลสู่ภายนอก

 

          การตรวจสอบสอบสุขภาพของคนขับระหว่างการขับรถนี้ ยังช่วยให้คนขับตระหนักรู้ถึงสภาพร่างกายของตนในปัจจุบัน ป้องกันความผิดปกติและปัญหาสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขับขี่ ลดปัจจัยในการเกิดอุบัติเหตุที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตและทรัพย์สินลงมาก

 

          นอกจากนี้พวกเขายังตั้งใจพัฒนาให้เรดาร์ทำงานควบคู่กับระบบแจ้งเตือน ในกรณีที่เกิดความผิดปกติฉุกเฉินจนทำให้ชีพจรหรืออัตราการเต้นหัวใจผิดปกติเกินระดับที่กำหนด ระบบจะทำการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน เพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากโรคภัยและอุบัติเหตุยิ่งขึ้น

 

          นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่อาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่คนขับและความปลอดภัยบนท้องถนนไปพร้อมกัน

 

 

 

          ปัจจุบันเรดาร์ตรวจสุขภาพนี้ยังอยู่ในระหว่างค้นคว้าวิจัย จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาอีกมากจึงจะนำมาใช้จริง แต่ในอนาคตทางทีมวิจัยตั้งเป้าว่า ไม่เพียงแค่คนขับแต่เรดาร์จะสามารถตรวจสุขภาพของผู้โดยสารทุกคนแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ในปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตอีกมาก

 

          ที่เหลือคงต้องรอดูว่าเรดาร์ชนิดนี้จะได้รับการพัฒนาให้นำมาใช้งานจริงหรือไม่

 

 

          ที่มา

 

          https://www.posttoday.com/innovation/1255

 

          https://www.posttoday.com/post-next/innovation/692401

 

          https://techxplore.com/news/2019-11-scientists-sensor-children-pets-left.html

 

          https://techxplore.com/news/2024-03-radar-technology-health-status-driver.html