posttoday

City Design : ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ ขานรับนโยบาย “สวน 15 นาที”

09 พฤษภาคม 2567

ร่วมกันขับเคลื่อนพระโขนง-บางนาสู่ย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ปรับปรุงและฟื้นฟู ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ บนพื้นที่ 214 ตารางเมตร บริเวณท้ายซอยสุขุมวิท 95 เป็นพื้นที่สาธารณะแนวตั้ง เชื่อมต่อคนในชุมชนกับธรรมชาติ

KEY

POINTS

  • ปรับปรุงและฟื้นฟู ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ บนพื้นที่ 214 ตารางเมตร ท้ายซอยสุขุมวิท 95 เป็นพื้นที่สาธารณะแนวตั้ง ขานรับนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของกรุงเทพมหานคร
  • ขับเคลื่อนพระโขนง-บางนาสู่ย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาย่านเซาท์สุขุมวิทให้เป็นย่านน่าอยู่ และเป็นพื้นที่ของทุกคน (Inclusive City) 
  • ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งในกรุงเทพฯ มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด จึงเป็นที่มาของนโยบายสวน 15 นาที ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนใกล้บ้านได้

ภาคีเซาท์สุขุมวิท (South Sukhumvit) จากการรวมตัวกันของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในย่านพระโขนง-บางนา ร่วมกับสำนักงานเขตพระโขนง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และกลุ่มนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ ขับเคลื่อนพระโขนง-บางนาสู่ย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ ปรับปรุงและฟื้นฟู ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ บนพื้นที่ 214 ตารางเมตร บริเวณท้ายซอยสุขุมวิท 95 เป็นพื้นที่สาธารณะแนวตั้ง เชื่อมต่อคนในชุมชนกับธรรมชาติ พร้อมผลักดันเป็นโครงการต้นแบบ ขานรับนโยบาย ‘สวน 15 นาที’ ของกรุงเทพมหานคร

 

นางสายทิพย์ สุคนธ์มณี ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กล่าวว่า “พื้นที่สาธารณะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะเปิดโล่งในกรุงเทพฯ มีอยู่อย่างค่อนข้างจำกัด จึงเป็นที่มาของนโยบายสวน 15 นาที ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่พักผ่อนใกล้บ้านได้ สำนักงานเขตฯ เล็งเห็นว่าในย่านเซาท์สุขุมวิทมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่สามารถปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อคนในชุมชนได้

 

หนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นคือพื้นที่บริเวณท้ายซอยสุขุมวิท 95 ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง จนกระทั่งในปี 2564 กลุ่มนิสิตและคณาจารย์วิชาการออกแบบและก่อสร้างเพื่อชุมชน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ (INDA) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาพัฒนาให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นที่เป็นหอคอยแนวตั้งยึดกับต้นไม้ ให้เด็กๆ เข้ามาเล่นได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อเวลาผ่านไปบ้านต้นไม้มีสภาพทรุดโทรมลง สำนักงานเขตฯ อยากสานต่อความตั้งใจเดิม จึงได้ร่วมกับภาคีเซาท์สุขุมวิทในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่นี้อีกครั้ง”

 

City Design : ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ ขานรับนโยบาย “สวน 15 นาที”

 

การพัฒนาปรับปรุง ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’

ครั้งนี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของหลายภาคส่วน โดยมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่ม Sukhumvit 95 Design Collective ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชนและร้านค้าในซอยสุขุมวิท 95 ร่วมกันออกแบบและฟื้นฟูบ้านต้นไม้เดิม พร้อมปรับโฉมพื้นที่โดยรอบให้เป็นลานละเล่นที่สามารถรองรับกิจกรรมหลากหลายของคนในชุมชน และยังได้ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมคิดค้นวิจัยวัสดุปูพื้นนวัตกรรมคอนกรีตจากเถ้าขยะ เพื่อลดค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ของวัสดุก่อสร้าง และสนับสนุนการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองโดยใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ไทย โอบายาชิ จำกัด ที่นำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างมาร่วมสร้างงานรั้วรอบพื้นที่สาธารณะแห่งนี้

 

City Design : ‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ ขานรับนโยบาย “สวน 15 นาที”

 

‘บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง’ เปิดตัวครั้งแรกหลังการบูรณะฟื้นฟูในเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยย่านเซาท์สุขุมวิทได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 15+ ย่านสร้างสรรค์ ร่วมถ่ายทอดวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของย่านผ่านโปรแกรมสร้างสรรค์ต่างๆ โดยมีบ้านต้นไม้เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญ พร้อมทั้งจัด 2 กิจกรรมต้นแบบเพื่อให้คนในชุมชนเห็นภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ อันประกอบไปด้วย นิทรรศการภาพถ่ายและเฟอร์นิเจอร์ Where we were โดย 85mm. Studio & House และเสวนาเรื่องอาหาร (Politics of Food) โดย Books & Belongings ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 บ้านต้นไม้ 95 เขตพระโขนง ได้กลายเป็นอีกหนึ่งสาธารณะสมบัติที่ถูกส่งมอบให้กับชุมชนและชาวบ้านในระแวกใกล้เคียง โดยเฉพาะเด็กๆ ได้เข้ามาใช้ประโยชน์ต่อไป

 

นายองศา จรรยาประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการ Cloud 11 by MQDC ฮับแห่งใหม่สำหรับวงการครีเอทีฟ ตัวแทนภาคีเซาท์สุขุมวิท กล่าวว่า

 

“การฟื้นคืนชีวิตและทำให้บ้านต้นไม้กลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนอีกครั้ง เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในชุมชนให้สามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ใกล้บ้าน และยังเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เด็กสามารถมาเล่น ผู้ใหญ่สามารถมาพักผ่อน ออกกำลังกาย ทั้งยังส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์กันในชุมชน

 

นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของภาคีเซาท์สุขุมวิทในการผสานความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private People Partnership) นำเอาความสนใจและความสามารถที่แตกต่าง มาต่อยอดและเติมเต็มซึ่งกันและกัน เพื่อขับเคลื่อนพระโขนง-บางนาสู่ย่านนวัตกรรมสร้างสรรค์ และพัฒนาย่านเซาท์สุขุมวิทให้เป็นย่านน่าอยู่ และเป็นพื้นที่ของทุกคน (Inclusive City) อย่างแท้จริง”

 

ติดตามความเคลื่อนไหว และกิจกรรมต่างๆ ของภาคีเซาท์สุขุมวิทที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ทาง Facebook Fan Page: South Sukhumvit

 

เกี่ยวกับย่านเซาท์สุขุมวิท (South Sukhumvit Neighborhood)

เซาท์สุขุมวิทคือพื้นที่แนวถนนสุขุมวิทตอนใต้สุดของกรุงเทพมหานคร ทิศเหนือเริ่มตั้งแต่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสถานีอ่อนนุช (คลองพระโขนง) ไปจนถึงบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสถานีบางนา (คลองบางนา) โดยทิศตะวันตกกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันออกจรดแนวถนนศรีนครินทร์ เป็นย่านที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน South Sukhumvit เป็นย่านที่มีการอยู่อาศัยหนาแน่น โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่ามีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 2 ล้านคน มีชุมชนและเครือข่ายท้องถิ่นที่แข็งแรง ทั้งยังเป็น 1 ใน 5 พื้นที่ขยายทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ (New Sub-CBD) และกำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็น ‘ย่านนวัตกรรม’ ของกรุงเทพฯ ในอนาคต ตามแนวทางการพัฒนาของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทำให้ South Sukhumvit ไม่เพียงแต่เป็นย่านที่มีศักยภาพเพียบพร้อม ยังมีส่วนผสมของวิถีชีวิตความเป็นย่านที่อยู่อาศัยและความเป็นย่านธุรกิจนวัตกรรม อยู่ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการเเละคนในพื้นที่ได้อย่างลงตัว

 

ภาคีเซาท์สุขุมวิท (South Sukhumvit) 

ภาคีเซาท์สุขุมวิท (South Sukhumvit) เกิดจากการผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มผู้ประกอบการในย่านอ่อนนุช - บางนา อันประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร บริษัท 85 มม. สตูดิโอ แอนด์ เฮาส์ จำกัด (85mm. Studio & House) แพลตฟอร์มเอไอดีเอท (AI-Deate) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการ BEAT Discovery กลุ่มบริษัทภิรัชบุรี (BHIRAJ BURI GROUP) ร้าน Books & Belongings บริษัท เจียไต๋ จำกัด โครงการคลาวด์ อีเลฟเว่น (Cloud 11) ครีเอทีฟแล็บ (Creative Lab) ภายใต้สังกัดบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) บริษัท โอ๊ตส์ จำกัด (DROP BY DOUGH) บริษัท ไฮโปธีสีส จำกัด (Hypothesis) บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โครงการ SAMA Garden Sukhumvit 95 Design Collective โครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) และบริษัท แวสแล็บ จำกัด (Vaslab Company Limited) ในครั้งนี้ได้ผลักดันย่านเซาท์สุขุมวิทเข้าร่วมเป็น 1 ใน 15 ย่านสร้างสรรค์ของ Bangkok Design Week 2024